เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ด้านพืช
โดย ศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน
การเกษตรสมัยใหม่ด้านพืชที่น่าจะมีความสำคัญในอนาคตเป็นเรื่องที่นักวิชาการทราบกันดีอยู่แล้ว บ้างเรื่องก็เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย คาดว่าเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ต่อไปนี้จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนบางเรื่องน่าจะกลายเป็นการปฏิบัติตามปกติของการเกษตรด้านพืชในอนาคต ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 6 เรื่องด้วยกัน
1. การเกษตรแม่นยำ (Precision farming): เป็นการผลิตพืชโดยเกษตรกรใช้ปัจจัยอย่างคุ้มค่า เริ่มตั้งแต่ การเตรียมดินโดยเครื่องมือเครื่องจักรที่เหมาะสม ปรับระดับดินให้เหมาะสมแก่การชลประทานและการระบายน้ำ ใช้เมล็ดพันธุ์ดีปลูกในอัตราที่เหมาะสม และปลูกเป็นแถวเพื่อประหยัดเมล็ดพันธุ์ ง่ายต่อการปฏิบัติรักษา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ ใช้ปุ๋ยเคมีโดยวิเคราะห์ดินและพืช เพื่อให้ทราบความต้องการธาตุอาหารที่แท้จริงของพืช ใช้ปุ๋ยและสารเคมีอย่างปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานและเครื่องจักรอย่างคุ้มค่าต่อราคาพืชผล
2. การทำการเกษตรดี (GAP: Good Agricultural Practice): ปัจจุบันนี้การผลิตทางการเกษตรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภคทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการผลิตพืชซ้ำๆ ทำให้มีการระบาดของโรคและแมลงรุนแรงขึ้น ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น เมื่อดินเสื่อมโทรมลงก็ต้องเพิ่มการใช้ปุ๋ยมากขึ้น สังคมและผู้บริโภคก็จะมีระบบการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น เกิดการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบ เช่น เครื่องมือวัดสารปนเปื้อนในอาหาร เครื่องมือเหล่านี้จะแพร่หลายสู่ชุมชนและครัวเรือน และถูกใช้จนเป็นเรื่องปกติของอนาคต
3. การบริโภคอาหารเป็นยา: คนเราเริ่มเป็นห่วงว่า “You are what you eat” คือกินอะไรเข้าไปก็จะเป็นอย่างนั้น รวมทั้งการเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่นมะเร็งก็เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากอาหารที่บริโภค ผู้บริโภคจะเริ่มระมัดระวังการบริโภคอาหารมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรดี (GAP) แล้ว ในปัจจุบันยังมีการศึกษาอาหารที่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหรือรักษาโรค
4. พืชในอนาคตจะถูกสร้างหรือพัฒนาพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะทาง: ในแง่ของอาหาร (เช่น มี Glycemic index ต่ำ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน) เครื่องนุ่งห่ม (เช่น พัฒนาพืชให้ได้เส้นใยที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ต้องฟอกย้อม) ที่อยู่อาศัย (เช่น พืชที่โตเร็ว เนื้อไม้มีคุณสมบัติทนแดดทนฝน) ยารักษาโรค (เช่น พัฒนาพืชให้มีสารเคมีสำหรับรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิดเพิ่มขึ้น ทั้งการปรับปรุงพันธุ์และการถ่ายยีน) รวมทั้งการเป็นพืชพลังงานทดแทน ได้แก่ สบู่ดำ หยีน้ำ และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาพันธุ์จากหลายๆประเทศทั่วโลก
5. เทคโนโลยีการเตือนภัยโรคและแมลง: เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงและน่าจะเริ่มใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งต้องอาศัยหลักการของสมการทำนายแบบมีตัวแปรหลัก (Independent variable; xi) หลายๆตัว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการทำนายทางอุตุนิยมวิทยา โดยต้องมีการเก็บข้อมูลที่น่าจะเป็นปัจจัยปัจจัยส่งเสริมหรือยับยังการแพร่ระบาดของโรคหรือแมลงแต่ละชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิดิน อุณหภูมิอากาศ ปริมาณตัวอ่อน หรือ สปอร์ (Spore) ที่สุ่มได้เป็นต้น ยิ่งมี X-variable ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำนายการระบาดได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น สมการทำนายจะมีความแม่นยำเพียงใดขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลที่มีอยู่ร่วมกับข้อมูลที่ต้องเก็บเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
6. การหาวิธีเพาะเลี้ยงพืชอาหารในแหล่งน้ำขนาดใหญ่: เทคโนโลยีสุดท้ายเป็นการหาวิธีเพาะเลี้ยงพืชอาหารในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ทะเล หรือทะเลสาบ ทั้งเพื่อการผลิตอาหารคนและอาหารสัตว์ เพราะพื้นที่โลกที่เป็นน้ำมีมากกว่าพื้นที่เป็นดิน อย่างไรก็ตาม พืชที่สามารถเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำได้ก็อาจมีจำกัด และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำเหล่านี้อีกด้วย ที่สำเร็จในปัจจุบันคือ การเพาะเลี้ยงสาหร่ายและพืชน้ำในต่างประเทศ เช่น สหภาพเมียมาร์ มีการปลูกผักในทะเลสาบอินเล รัฐฉาน มาหลายสิบปีแล้ว โดยใช้วัชพืชในทะเลสาบนั้นเป็นวัสดุปลูก ประเทศอื่นๆ ในโลกก็น่าจะศึกษาต่อยอด
อ้างอิงจาก: วารสารเกษตรอภิรมย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กันยายน-ตุลาคม 2557 รูปภาพจาก: https://www.flickr.com/photos/115847572@N04/16051769637/