ไม่ธรรมดา! มะละกอเรดเลดี้ ปลูกง่าย เป็นที่ต้องการตลาด สร้างรายได้แก่ครอบครัว
รอยต่อระหว่างจังหวัดตากไปลำปาง สองข้างทาง ดูไม่ร่มรื่นนัก โดยเฉพาะที่อำเภอสามเงา ทั้งนี้เป็นเพราะอยู่ในอิทธิพลของเงาฝนกระนั้นก็ตาม เมื่อเลี้ยวลึกเข้าไปตามซอกซอย จะเห็นแปลงปลูกฝรั่ง กล้วยไข่ รวมทั้งมะละกอ เกษตรกรอาศัยความอุมสมบูรณ์ที่แม่น้ำวังไหลผ่าน สำหรับทำการเกษตรมะละกอที่ปลูกกัน ทำรายได้ให้ดี โดยเฉพาะพันธุ์เรดเลดี้
คุณสมจิตต์ บุญมาวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเขตภาคเหนือ บริษัทเพื่อนเกษตรกร จำกัด ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ
ลักษณะประจำพันธุ์ “เรดเลดี้”
มะละกอของบริษัทเพื่อนเกษตรกร จำกัด ที่ได้รับความนิยมมีอยู่หลายสายพันธุ์เรดเลดี้ เป็นสายพันธุ์หนึ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จุดเด่นคือให้ผลผลิตเร็ว ลำต้นสูง 60-80 เซนติเมตร ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ผลผลิตมากกว่า 40-50 ผลต่อต้น ต้านทานไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบด่างวงแหวนได้ดี ผลที่เกิดจากดอกตัวเมียจะมีลักษณะกลม-สั้น เนื้อสีส้มแดง ผลที่เกิดจากดอกกระเทย ผลมีลักษณะยาว เนื้อหนา น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม เมื่อสุก มะละกอเรดเลดี้มีกลิ่นหอม ความหวาน 13 องศาบริกซ์ ผลสุกทนทานต่อการขนส่ง
คุณสมจิตต์บอกว่าผู้ปลูกมะละกอเรดเลดี้ปัจจุบันส่งโรงงานและส่งตลาดกินสุก อย่างที่จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช เมื่อมีผลผลิตนำส่งโรงแรมแถบจังหวัดภูเก็ตและหาดใหญ่ หากผลผลิตไม่สวยส่งเข้าโรงงานแปรรูปเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อขายปัจจุบันกิโลกรัมละ 145,000 บาท ปลูกได้ 200 ไร่ ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะบรรจุซองละ 5 กรัม มีราว 380-480 เมล็ด ปลูกได้ในพื้นที่ 1 ไร่
พบเกษตรกรผู้ปลูก
คุณนรินทร์ นบนอบ เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 102 หมู่ 10 ตำบลยกบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ปลูกมะละกอในพื้นที่ 8 ไร่ เจ้าตัวบอกว่า เดิมเป็นลูกจ้าง ต่อมาเถ้าแก่ลงทุนให้ พื้นที่ 8 ไร่ ลงทุน หมื่นเศษๆ เป็นค่าไถที่ เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งปุ๋ย
วิธีปลูกมะละกอเรดเลดี้
เริ่มจากไถดิน แล้วยกแปลงกว้าง 3 เมตร ระหว่างแปลงเป็นร่องน้ำกว้างราว 50 เซนติเมตร จากนั้นปลูกมะละกอลงไปที่สันร่อง ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 1.50-2 เมตร เมื่อหักพื้นที่บางส่วนออกไป 1 ไร่ปลูกได้ราว 300 ต้นต้นกล้าที่ปลูกใช้เวลาเพาะราว 1 เดือน เมื่อปลูกไปแล้ว 8 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้การดูแลรักษานั้น คุณนรินทร์บอกว่า ใช้ปัจจัยการผลิตไม่มาก ปุ๋ยเริ่มใส่ให้เมื่อปลูกไปแล้ว 2 เดือน เป็นสูตร 15-15-15 จำนวนต้นละ 1 กำมือ “มะละกอที่ปลูก เก็บได้จนอายุ 2 ปี รวมแล้วเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัมต่อต้น ลูกหนึ่งมีตั้งแต่ 5 ขีด- 2 กิโลกรัม ตั้งแต่ที่ทำมา ราคาต่ำสุด 2 บาทสูงสุด 8 บาท ผมว่าปลูกแล้วมีรายได้ดี เก็บทุกๆ 7 วัน มะละกอส่งโรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท หากคัดผลผลิตแล้วห่อเป็นมะละกอกินสุก กิโลกรัมละ 5 บาท ดีนะผมว่าใช้ได้”
คุณนรินทร์บอก และเล่าต่ออีกว่า “ผมเป็นคนอยุธยา มาได้แฟนอยู่ที่นี่ 20 ปีแล้ว ผมเก็บเดือนกว่าๆได้ 6 หมื่นบาท ไม่ค่อยได้พ่นยาเพราะเราเก็บบ่อย เรดฯรสชาติดี หวาน ผมกินประจำ ทำส้มตำได้” ล้งมะละกอคุณจรัส และคุณศิริพักตร์ จันทบุรี อยู่บ้านเลขที่ 171/4 หมู่ 3 ตำบลยกบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เริ่มสนใจปลูกมะละกอเรดเลดี้มาตั้งแต่ปี 2548 เดิมครอบครัวนี้ปลูกข้าวโพดแป้ง (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ข้าวโพดหวาน กล้วยไข่คุณจรัสเล่าว่า ตนเองอ่านพบในหนังสือ ทราบว่ามะละกอเรดเลดี้ให้ผลผลิตดี ต้านทานโรค จึงขึ้นไปซื้อเมล็ดพันธุ์โดยตรง ที่เชียงใหม่ นำมาปลูกเฉพาะของตนเอง 10 ไร่ รวมของพี่ๆน้องๆด้วย เป็น 30 ไร่ เมื่อเริ่มเก็บผลผลิตได้ 2 เดือน ได้เงิน 4 แสนบาท ปรากฏว่าน้ำท่วม เสียหายหมดเมื่อได้ทดลองปลูกและมีความมั่นใจ ปีต่อๆมา คุณจรัสและคุณศิริพักตร์ จึงนำเมล็ดพันธุ์มาปล่อยให้เกษตรกรแถบนั้นปลูก พร้อมกับรวบรวมผลผลิต ส่งต่อให้กับผู้ซื้ออีกทีหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็น”ล้ง”นั่นเอง ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกในกลุ่มของคุณจรัสและคุณศิริพักตร์ รวมแล้วมีประมาณ 300 ไร่ เกษตรกรที่ปลูกมีพื้นที่ตั้งแต่ 3-10 ไร่
คุณสิริพักตร์ พูดถึงตลาดมะละกอเรดเลดี้ว่า ราว 70 เปอร์เซนต์ของผลผลิตส่งโรงงาน บริษัทรับซื้อเข้าไปทำผลไม้รวมและมะละกออบแห้ง ที่เหลือส่งตลาดมะละกอสุก ซึ่งจะคัดผลสวย ห่อด้วยหนังสือพิมพ์ การห่อนี้ ห่อหลังจากเก็บผลผลิตแล้ว ที่ผ่านมา ตลาดไม่ค่อยยอมรับมะละกอที่เกิดจากดอกตัวเมีย ซึ่งผลกลม แต่ปัจจุบันยอมรับกันแล้ว เพราะรสชาติไม่แตกต่างกัน ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรแถบยกบัตร ไม่สูงนัก บางราย 8 ไร่ ลงทุนราว 1.4 หมื่นบาทเท่านั้นระหว่างปี ทางเจ้าของล้งบอกว่า มะละกอมีมากเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลก ช่วงนี้มะละกอราคาดี ช่วงที่มะละกอมีน้อยเดือนเมษายน ราคากลับไม่ดี ทั้งนี้เป็นเพราะโรงงานซื้อมะละกอน้อย เขาซื้อมะม่วงไปแปรรูป จากนั้นก็เป็นช่วงของเงาะ “ตอนนี้โรงงานมารับไป 10 ราย มะละกอกินสุก 6 ราย มาจากตลาดไท สี่มุมเมือง เชียงใหม่ ราชบุรี ขอนแก่น มาครั้งหนึ่งก็ 3 ตันต่อคัน มะละกอโรงงานถ้าเราซื้อ 3 บาทส่ง 4 บาท มะละกอกินสุกถ้าซื้อ 5 บาท ขาย 6 บาท ได้ 1 บาท เป็นค่าการจัดการ”คุณจรัสบอก “ช่วงที่มะละกอมีน้อย เดือนเมษายน อาทิตย์ละ 3-5 ตัน แต่ช่วงมีมากๆ วันหนึ่งเป็น 10-20 ตัน”
คุณศิริพักตร์พูดถึงการซื้อขายมะละกอคุณสมจิตต์บอกว่า ราคามะละกอมีขึ้นมีลง อย่างกินสุก หากเกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 6-8 บาท เกษตรกรก็พอใจแล้ว ส่วนมะละกอโรงงานที่ผ่านมาถือว่าพอใช้ได้แนวทางการผลิตมะละกอเรดเลดี้ ของเกษตรกรแถบอำเภอสามเงา ปัจจัยการผลิตเหมาะสม อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงผู้สนใจอยากปลูกมะละกอเรดเลดี้ ถามไถ่กันได้ที่เกษตรกร ตามที่อยู่ หรือโทร.087-8034775 ส่วนผู้อ่านที่อยากทราบว่า ตนเองอยู่จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ปลูกได้ไหม ถามได้ที่คุณสมจิตต์ บุญมาวงศ์ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด 43 ถ.ราชพฤกษ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300 โทร.053-211773,053-211810,053-217180 หรือ 087-7595181
ปลูกมะละกอเรดเลดี้ ให้ได้ผลดี
สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมมะละกอ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศทุกสภาพ และดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขังจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นดินเหนียวควรปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และระบายน้ำให้ดีเสียก่อน ความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 เพาะกล้าให้เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงการเพาะเมล็ดลงในกระบะทราย วิธีการโดยเตรียมกระบะไม้หรือกระบะพลาสติค ขนาด 40x60x10 เซนติเมตร (กว้างxยาวxสูง) ที่มีรูระบายน้ำด้านล่าง รองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หนึ่งชั้น ใส่ทราย (ทรายก่อสร้างที่ร่อนเอาเศษหินและไม้ออกแล้ว) ความหนา ประมาณ 2-3 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม ทำร่องลึก 1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละ 5 เซนติเมตร โรยเมล็ดลงไป (เมล็ดควรจะคลุมด้วยยาออร์โธไซด์) จากนั้นกลบร่อง ใช้เศษฟางข้าวที่สะอาดปิดคลุมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากเมล็ดเริ่มงอก 3-5 วัน ให้รีบเอาฟางข้าวออก หลังจากหยอดเมล็ดได้ 10-14 วัน ต้นกล้ามีใบเลี้ยง 2 ใบ ให้ถอนย้ายลงปลูกในถุงดินหรือในถาดเพาะต่อไป การรดน้ำในช่วงการเพาะเมล็ดนี้จำเป็นต้องใช้บัวที่มีฝอยละเอียด และรดทุกวันอย่าให้ทรายแห้งเป็นอันขาด
วิธีการย้ายกล้าลงในถุงดิน
การย้ายกล้าลงในถุงดิน ให้เตรียมถุงดินโดยใช้ถุงพลาสติค ขนาด 4×4 นิ้ว หรือ 4×6 นิ้ว เจาะรูตรงมุมด้านล่างทั้ง 2 ข้าง เพื่อระบายน้ำ ดินผสมที่ใช้ประกอบด้วย ดิน 3 บุ้งกี๋ ขี้วัวเก่า 1 ปุ้งกี๋ ปุ๋ยสูตร 0-46-0 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากันและกรอกลงในถุงดิน นำถุงดินไปวางเรียงบนแปลงขนาดกว้าง 1.2 เมตร (เรียงได้ 10-15 ถุง) เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและการคลุมต้นกล้า เพื่อป้องกันแสงแดดและฝน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม นำต้นกล้ามะละกอที่ถอนจากกระบะทรายลงปลูกถุงละ 1 ต้น การย้ายกล้าควรกระทำในตอนเย็นหรือขณะที่แสงแดดน้อย หลังการย้ายกล้าให้รดน้ำตามอีกหนึ่งรอบ ทำหลังคาคลุมด้วยวัสดุที่พลางแสง ทิ้งไว้ 3-4 วัน พอต้นกล้าเริ่มติดและตั้งตัวแข็งแรงก็เริ่มเปิดที่พลางแสงออก แต่ทุกเย็นหรือขณะฝนตกต้องคลุมแปลงกล้าด้วยพลาสติคใสเพื่อป้องกันฝน ควรรดน้ำต้นกล้าทุกวัน และฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชเมื่อแมลงมารบกวน ประมาณ 25-30 วัน ก็สามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงได้ย้ายกล้าลงในถาดเพาะกล้าให้ใช้ถาดเพาะกล้าพลาสติคสีดำ ที่มีจำนวน 104 หลุม ใส่มีเดีย (วัสดุใช้แทนดิน) ลงให้เต็มช่องหลุมแล้วปรับให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม นำต้นกล้าที่ถอนออกจากกระบะทรายลงปลูกให้เต็มถาดเพาะ
จะเห็นว่าวิธีการใช้ถาดเพาะกล้านี้ง่ายและสะดวก สามารถทำในที่ร่มและเก็บไว้ในที่ร่ม 3-4 วัน แล้วจึงย้ายไปวางเรียงในแปลงกลางแจ้งและทำหลังคาคลุมพลาสติคเพื่อป้องกันฝนตก ดูแลเหมือนวิธีแรก ประมาณ 25-30 วัน ก็สามารถย้ายลงปลูกได้ วิธีนี้จะช่วยในการขนย้ายต้นกล้าไปยังแปลงปลูกได้สะดวกกว่าเตรียมแปลงปลูกและการย้ายปลูกมะละกอ เป็นพืชที่มีระบบรากลึกและกว้าง ควรไถดินให้ลึก ใช้ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 2-2.5 เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่ ขุดร่องเป็นรูปตัววี ลึกประมาณหนึ่งหน้าจอบ รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ฟูราดาน อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อไร่ สารบอแรกซ์ อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยโรยลงในร่องตัววี แล้วกลบยกเป็นแปลงนูนรูปโค้งหลังเต่า สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร คลุมด้วยพลาสติคสีบรอนซ์หรือคลุมด้วยฟางข้าว จากนั้นกำหนดระยะปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น 1.5-2.0 เมตร แล้วขุดหลุมปลูก รดน้ำหลุมให้ชุ่ม จากนั้นย้ายต้นกล้าลงปลูก ในหลุมปลูกรดน้ำตามอีก 1 รอบ การปลูกระวังอย่าปลูกลึกเกินไปอาจทำให้ต้นกล้าตายได้
ดูแลรักษาให้ได้ผลดี
1.การใส่ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้นขณะเตรียมแปลง สูตร 15-15-15 อัตรา ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่
ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา ประมาณ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยการโรยข้างต้น ห่างโคนต้น 30-40 เซนติเมตร แล้วกลบโคนต้น หลังย้ายปลูกประมาณ 1 เดือน
ครั้งที่ 3 หลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 หรือ 13-13-21 อัตรา ประมาณ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยคอก เช่น ขี้ไก่ อัตราประมาณ 500 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยการโรยที่ร่องแปลงแล้วกลบโคนต้นหรือจะฝังระหว่างต้นก็ได้
2.การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพออย่าให้ขาดน้ำ เพราะถ้ามะละกอขาดน้ำต้นอาจจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่ติดดอกออกผลการให้น้ำมะละกอไม่ควรให้น้ำแฉะเกินไป เพราะมะละกอเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำมาก แต่ขาดน้ำไม่ได้
3.การพรวนดินกำจัดวัชพืช
ควรมีการพรวนดินและกำจัดวัชพืช ในช่วงแรกอย่าให้วัชพืชรบกวน และต้องมีการกลบโคนต้นในช่วงหลังปลูกประมาณ 1 เดือน
4.การทำไม้หลัก
เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มีลำต้นค่อนข้างอวบ ให้ผลผลิตและมีน้ำหนักมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำหลักเพื่อพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม
5.การไว้ผลและการตัดแต่ง
การปลูกมะละกอถ้าจะให้ได้คุณภาพผลผลิตที่ดี ควรปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เพราะนอกจากจะแย่งอาหารแล้ว ยังทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ
เก็บเกี่ยวและการขนย้าย
มะละกอสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งผลดิบและผลสุก แล้วแต่ความต้องการของตลาด ถ้าต้องการผลดิบสามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 5-6 เดือน แต่ถ้าเก็บผลสุก หลังจากปลูกประมาณ 8-10 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ควรเลือกเก็บเกี่ยวผลที่กำลังเริ่มสุกมีสีส้มหรือเหลืองปนเขียว ขณะที่ผลที่ไม่นิ่มหลังจากเก็บเกี่ยวควรห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อรักษาผิวของผลมะละกอไม่ให้ช้ำและเสียหายได้
ศัตรูและการป้องกันกำจัด ไรแดง
เป็นศัตรูของมะละกอ ลักษณะการทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของมะละกอ เช่น ใบ ผล ดอกหรือส่วนอ่อนๆ ของพืช มักจะระบาดในช่วงที่มีอากาศร้อนและแห้งการป้องกันกำจัด เมื่อมีการระบาด ให้ตัดหรือเก็บส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยของไรแล้วเผาทำลายทำลายพืชอาศัยบริเวณข้างเคียงใช้สารเคมีประเภทฆ่าไร เช่น อะคาร์ เคลเทน ไดฟอน และไอไมท์ ใช้ตามคำแนะนำของยาชนิดนั้นๆ โดยฉีดพ่นหรือใช้กำมะถันผงฉีดพ่น
เพลี้ยไฟ
เป็นศัตรูที่สำคัญของมะละกออีกชนิดหนึ่งที่มีลำตัวขนาดเล็ก เคลื่อนไหวไวมาก ทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืชและเป็นพาหนะของเชื้อไวรัส มักจะระบาดช่วงที่มีอากาศร้อนในฤดูแล้งการป้องกันกำจัด เนื่องจากเพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีการเคลื่อนไหวเร็วและสามารถสร้างความต้านทานต่อยาฆ่าแมลง ดังนั้น การใช้สารเคมีกำจัดจึงต้องเปลี่ยนชนิดของยาอยู่เสมอ ไม่ควรใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ยาที่ใช้ได้ผลคือ ไดเมทโซเอท คาร์โบซัลแฟน โดยใช้ตามคำแนะนำของยาชนิดนั้นๆ
เพลี้ยอ่อน
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะการทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของต้นมะละกอ เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกหรือส่วนอ่อนของลำต้น เพลี้ยอ่อนเป็นพาหนะของเชื้อไวรัส เช่น โรคใบด่าง ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงของมะละกอการป้องกันกำจัด โดยการทำลายพืชอาศัยหรือโดยการทำลายมดซึ่งเป็นตัวพาหะให้เพลี้ยอ่อนไประบาด ใช้สารเคมี ป้องกันกำจัด เช่น ฉีดพ่นด้วยยาพวกคาร์โบซัลแฟน มาลาไธออน โดยใช้ตามคำแนะนำของยาชนิดนั้นๆ
โรคใบด่าง
สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ หรือโดยการสัมผัสต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ยังไม่เป็นโรคลักษณะอาการ เริ่มแรกใบยอดเหลืองซีด มีเส้นใบหยาบหนา ต่อมาแผ่นใบจะด่างเป็นคลื่น เขียวเข้มสลับเขียวอ่อนมองเห็นชัดเจน ใบมีขนาดเล็กม้วนงอ ใบหด ถ้าเป็นกับต้นอ่อนมะละกอจะแคระแกร็น ใบล่างเหลืองและร่วงหล่น ส่วนยอดจะโกร๋นเมื่อเป็นอย่างรุนแรง แต่ถ้าเป็นมะละกอที่โตแล้ว การผสมของดอกจะไม่ติด หรือผลที่ติดแล้วจะมีลักษณะอาการด่างเป็นจุดดวงแหวนทั่วทั้งผล ผิวเป็นจุดรอยช้ำๆ
การป้องกัน
หมั่นตรวจแปลงปลูก ถ้าพบต้นที่เป็นโรคก็ให้รีบทำลาย โดยการถอนทำลายนำไปเผาไฟหรือฝังให้ลึกกำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรค เช่น เพลี้ยอ่อนและกำจัดพืชอาศัย เช่น วัชพืชที่อยู่รอบๆ แปลงปลูก
โรคเน่าของต้น
ลักษณะอาการ ใบจะเหลืองซีดและร่วงหล่นเหลือแต่ส่วนยอด บริเวณรากเกิดอาการเน่าและบริเวณโคนต้นที่ติดกับผิวดินจะเน่า ต้นจะหักล้ม ต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เน่าเป็นสีน้ำตาลถึงดำการป้องกันกำจัดสาเหตุเกิดจากเชื้อรา โรคนี้มักระบาดอย่างรุนแรงในช่วงที่อากาศร้อน อุณหภูมิสูงและความชื้นในบรรยากาศสูง เช่น ช่วงฤดูฝนหรือการให้น้ำในแปลงปลูกมากเกินไป มักจะระบาดในช่วงของต้นกล้าและหลังการย้ายปลูกลักษณะอาการ ใบจะเหลืองซีดและร่วงหล่นเหลือแต่ส่วนยอด บริเวณรากเกิดอาการเน่าและบริเวณโคนต้นที่ติดกับผิวดินจะเน่า ต้นจะหักล้ม ต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เน่าเป็นสีน้ำตาลถึงดำการป้องกันกำจัดระวังอย่าให้น้ำมะละกอมากเกินไป ทั้งในระยะต้นกล้าและต้นโตไม่ควรให้ปุ๋ยประเภทไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้ลำต้นอวบ เปราะ และหักง่ายเตรียมดินให้ร่วนซุย ยกแปลงปลูกให้สูงทำทางระบายน้ำให้ดีอย่าให้น้ำท่วมขัง
แหล่งที่มา: http://www.thaiarcheep.com/ไม่ธรรมดา-มะละกอเรดเลดี.html