ไผ่เลี้ยงหวาน ใช้ได้ทั้งต้นและกินหน่อ
11Apr,17
ไผ่หวาน ลักษณะ คล้าย ไผ่ลวก ลำต้นตรง ไม่มีหนามความสูงของลำต้นประมาณ 4 – 5 เมตร ประโยชน์ใช้สอย ลำต้นใช้งานได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปี หน่อใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด รสชาติดี ต้มน้ำเพียง 1 ครั้งก็รับประทานได้ ราคาขายตามฤดูกาล เหมือนพืชอื่น ๆ ให้หน่อดก ดูแลง่าย ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมีใดๆ ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพดีที่สุด
ไผ่เลี้ยง Bamboos
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa multiplex (Lour.) Raeusch.
ชื่อวงศ์ : Gramineae
ชื่อสามัญ : Hedge bamboo
ชื่อพื้นเมือง : ไผ่สร้าง ไผ่เชียงไพร ไผ่สร้างไพร เพ็ก
ลักษณะทั่วไป (Characteristic)
พืชล้มลุกอายุหลายปี เป็นไม้พุ่มเป็นกอ ลำต้นตั้งตรง กลม เป็นทรงกระบอกกลวง ขนาด 1- 4.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง สีเขียว ไม่มีหนาม เนื้อเเข็ง มีช้อปล้องชัดเจน แต่ละปล้องยาว 20- 30 เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดินสั้น ไม่ทอดขนานไปทางระดับ
ใบ (Foliage) : ใบเดี่ยว เรียงสลับ 2 แถว ใบรูปหอก กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบคม แผ่นใบสีเขียว มีกาบหุ้มลำต้น หนาแช็งไม่แนบชิดลำต้น หลุดร่วงไปเมื่อแก่ ยอดกาบหนาแข็งมักมีขนคายทางด้านในมีติ่งกาบเห็นชัดเจน ตอนปลายกาบตรงที่ต่อกับใบจะมีลิ้นใบ
ไผ่หวาน เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีคนสนใจมากที่จะใช้การบริโภคในชีวิตประจำวัน ลักษณะโดยทั่วไป เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอเป็นพุ่มแน่น ลำอ่อนมีสีเขียวใบไม้ ลำแก่จะมีสีเขียวแก่ ลำต้นมักมีลักษณะคดงอ มีการแตกกิ่งจำนวน 2-5 กิ่งตลอดลำ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 ซ.ม. สูงประมาณ 5-8 เมตร บริเวณเหนือข้อเล็กน้อยจะเห็นเป็นแถบวงแหวนสีขาวรอบลำชัดเจน และมีรากอากาศรอบ ๆ ข้อ ลักษณะที่สังเกตง่ายที่สุด คือ ครีบกาบทั้งสองข้างของกาบหุ้มลำจะมีขนาดไม่เท่ากัน และมีรูปทรงต่างกัน ซึ่งปกติครีบกาบของไผ่ชนิดอื่นจะมีขนาดเท่ากัน หรือเหมือนกัน ไผ่หวานมีใบขนาดกลาง สำหรับผลนั้นเป็นหน่อมีสีเขียวหนักประมาณ 200-300 กรัม พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากที่สุดที่จังหวัดเลย สำหรับการขยายพันธุ์และผลิตกล้านั้น สามารถดำเนินการได้โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด ดินที่เหมาะสมการปลูกไผ่หวานเป็นดินร่วนปนทราย ดินลึก มีการระบายน้ำดี สำหรับความชื้นไผ่หวานเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นมาก
พันธุ์ไผ่เลี้ยง
พันธ์หนัก เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตหน่อได้ปกติในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – สิงหาคม) แต่ถ้าจะผลิตเป็นหน่อไผ่นอกฤดูหรือต้นฤดูฝน ผลผลิตที่ได้จะไม่คุ้มกับทุน
พันธุ์เบา เป็นพันธุ์ที่สามารถให้หน่อไผ่ ตกในช่วงฤดูฝน และสามารถผลิตเป็นหน่อไผ่นอกฤดูได้ดีมาก เพราะมีลักษณะเด่น คือ ถ้าได้น้ำ ได้ปุ๋ยแล้วจะให้หน่อทันที ถ้าเกษตรกรปลูกมีการบำรุงรักษาดี ผลผลิตก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะปลูกไผ่เลี้ยงขายหน่อ ควรปลูกพันธุ์เบา
การคัดเลือกพื้นที่ปลูกสวนไผ่
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกไผ่เลี้ยง ควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ถ้าเป็นดินเหนียว ดินโคกลูกรัง การเจริญเติบโต และการให้หน่อจะไม่ดี
การเตรียมดินปลูก
1. ไถครั้งแรกด้วยรถไถผาน 3 ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดวัชพืช
2. ไถครั้งที่ 2 ด้วยรถไถผาน 7 เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย เหมาะแก่การปลูกพืช
3. ขุดหลุมลึก 50*50 เซนติเมตร
4. ใช้ปุ๋ยคอกผสมคลุกเคล้ากับดินรองก้นหลุม ประมาณหลุมละ 1 ปี๊บ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
5. เสียบตอพันธุ์ปลูกลึกลงไปประมาณ 1 คืบ
6. กลบดินแล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง
7. นำเศษฟางหรือเศษหญ้ามาคลุมโคนต้นไผ่ไว้ตลอดเวลาเพื่อเป็นการเก็บรักษาความชื้นในดินให้สม่ำเสมอ
8. รดน้ำทุกวันจนกระทั่งไผ่แตกหน่อ จึงเปลี่ยนเป็นรดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
9. สังเกตสีของใบไผ่ ถ้าสีเริ่มจางให้ใส่ปุ๋ยขี้หมู 3 กิโลกรัม/ ต้น แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำแม่ ในอัตรา น้ำแม่ 1 ลิตร+น้ำ 10 ลิตร / 2 กอ ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง
10. ไผ่เลี้ยงอายุประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มเก็บผลผลิตมาประกอบอาหารได้แล้ว
การปลูก
1. ปลูกด้วยตอชำถุง (มีค. – กค.) ขุดหลุ่มขนาด 50 50 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 ปุ้งกี๋ คลุกเคล้าเข้ากับดินลงในหลุมปลูก ฉีกถุงดำออกอย่าให้ดินแตก นำลงหลุมกลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (ถ้าฝนไม่ตก)
2. ปลูกด้วยเหง้า หรือตอไผ่ที่ไม่ได้ชำถุง โดยขุดเหง้าหรือตอไผ่ แล้วนำไปปลูกทันทีด้วยการขุดหลุมเฉพาะ ไม่ต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปลูกแล้วกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ช่วงที่เหมาะสมในการปลูกโดยวิธีนี้ คือ เดือน มค. – เมย. เหมาะสำหรับผู้ที่มีแหล่งน้ำและสะดวกในการให้น้ำ
การดูแลรักษา
ไผ่หวานเป็นพืชที่ดูแลง่าย ในช่วงแรก ต้องคอยกำจัดวัชพืช หลังจาก 1 ปี จะไม่มีวัชพืชขึ้น เนื่องจากใบของไผ่จะบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้น อีกทั้งใบไผ่จะช่วยคลุมดินดีนักแล ในเดือนที่ 5 – 6 ควรมีลำต้นไว้ไม่เกิน 5 ลำ หมายถึงจะขายหน่อนะครับ ถ้าจะขายลำก็อีกเรื่องหนึ่ง ดินดี ปุ๋ยดี ประมาณ 6 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้
การเก็บผลผลิต
เลือกเก็บหน่อที่สมบูรณ์ ใหญ่ จะได้น้ำหนักและราคา โดยเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวันต่อไร่
การให้น้ำ ถ้าเป็นฤดูฝน ก็สบาย ๆ ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเทวดาช่วยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง ควรให้น้ำวันเว้นวัน โดยใช้สปริงเกอร์รดให้ทั่วบริเวณ ย้ำว่าทั่วบริเวณ ไม่ใช่เฉพาะโคนต้นนะครับ ทั้งนี้เพราะรากของไผ่จะเจริญเติบโตทั่วบริเวณ
การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูก 5 เดือน จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตวันเว้นวันหลังจากปลูก 6 เดือน จะเก็บผลผลิตได้ทุกวัน ผลผลิตประมาณ10 กิโลกรัมต่อวันต่อไร่ใช้มีดปลายแหลมตัดให้ความสูงของหน่อยาวประมาณ 35 เซนติเมตร หรือตามความต้องการของตลาด
เทคนิคการตัดแต่งกอและกิ่งไผ่
– หลักสำคัญในการตัดแต่งกิ่งไผ่ อยู่ที่ปีที่ 2 ซึ่งจะต้องตัดต้นที่แก่และยู่ชิดกันออก โดยใช้เลื่อยตัดแต่งกิ่งเฉพาะ จะสะดวกให้เหลือจำนวนต้นไว้ในแต่ละกอ ไม่เกิน 12 ตัน ต่อไป (การตัดแต่งควรตัดทุกปีอย่างต่อเนื่อง ปีละ 1 ครั้ง)
– ฤดูกาลที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่ง คือเดือน ธค. – มค.
– หลังตัดแต่งเสร็จให้ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก กอละประมาณ 15 – 20 กก. แล้วให้น้ำทันที เพื่อเร่งให้ได้ผลผลิตหน่อไผ่ช่วงต้นฤดู ซึ่งขายได้ราคาสูง
– ถ้าจะเร่งการออกหน่อ และเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น ให้เสริมด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 กอละประมาณ 2 กำมือ โดยใส่รอบๆ กอ แล้วจึงกลบด้วยปุ๋ยคอกแล้วให้น้ำทันที ถ้าไม่มีน้ำให้ก็ต้องรอเก็บผลผลิตในฤดูฝนตามปกติ แต่ผลผลิตก็จะได้มากกว่า สวนที่ไม่มีการตัดแต่งใส่ปุ๋ยอย่างแน่นอน
เทคนิคการบำรุงหน่อไม้ไผ่เลี้ยง
– ใช้เศษหญ้า หรือ ฟางแห้ง มาคลุมโคนต้นไผ่ไว้ แล้วรดน้ำ สัปดาห์ละครั้ง เพื่อเป็นการรักษาความชื้นไว้ให้สม่ำเสมอ
– บำรุงปุ๋ยขี้หมู + น้ำแม่ ฉีดพ่นเดือนละ 1 ครั้ง จะช่วยให้หน่อไม้ออกผลผลิตดีต่อเนื่องตลอดทั้งปี
การขยายพันธุ์ไผ่
การขยายพันธุ์ไผ่เลี้ยง ทำได้ 2 ลักษณะ
1. ขยายพันธุ์โดยการขุดเอาเหง้าของลำต้นไผ่ที่มีอายุ 1 ปี แต่ไม่ควรเกิน 1 ปีครึ่ง เมื่อขุดออกมาแล้วควรตัดให้เหลือตอไว้ประมาณ 40 ซม. และตัดแต่งรากออกพอประมาณ เพื่อสะดวกในการปักชำ ถุงที่เหมาะสมควรเป็นถุงดำขนาด 5 x 11 นิ้ว ขึ้นไป ส่วนผสมของดินบรรจุถุง คือ หน้าดิน 1 ส่วน และแกลบดำ 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้า แล้วใส่ลงในถุงนำเหง้าไผ่ที่เรียมไว้ลงถุงกลบดินแกลบให้แน่น ตั้งถุงเรียงไว้กลางแจ้ง รดน้ำให้พอชุ่มอยู่ตลอดประมาณ 15 วัน ก็จะเริ่มแตกแขนงครบ 2 เดือน นำไปปลูกได้ ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ตามแบบที่ 1 คือ เดือน กพ. – พค.
2. ขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้า จากส่วนที่เป็นเหง้าของหน่อที่ถูกตัดไปขาย แล้วเหลือตอติดดินไว้แตกแขนงขึ้นมารอให้แขนงที่แตกมาใหม่ มีใบแก่ (แตกใบขิง) จึงขุดเหง้าพร้อมแขนงนี้มาชำถุง แต่ต้องตัดกิ่งแขนงส่วนบนออกให้เหลือติดเหง้าขึ้นไปยาวประมาณ 30 – 40 ซม. ใช้วัสดุชำเหมือนกับการขยายพันธุ์แบบที่ 1 ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชำแบบที่ 2 คือ ตั้งแต่เดือน พย. – พค.
แหล่งที่มา: สวนหม่อนไม้ สวนกสิกรรมธรรมชาติวิถี http://www.monmai.com และ http://raithunyaboon.blogspot.com/2014/01/7_22.html