พลิกดินอีสานปลูกปาล์มน้ำมัน ที่หนองบัวลำภู ของเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด บนพื้นที่กว่า 100 ไร่
แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานปลูก “ปาล์มน้ำมัน” อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการยางพาราล้านไร่ก็ตาม อีกทั้งยังมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการถึงความเสี่ยงที่จะปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะความต้องการน้ำของปาล์มที่อาจส่งผลกระทบถึงการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันที่อาจไม่สูงเทียบเท่าในถิ่นเดิมอย่างภาคใต้ รวมไปถึงเรื่องของโรงงานรองรับที่ยังเป็นข้อจำกัด แต่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน และวันนี้หลายพื้นที่ปาล์มน้ำมันก็ได้ให้ผลผลิตกันแล้ว
จากการสำรวจการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปัจจุบันการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรได้ปลูกไปแล้วประมาณ 100,000 ไร่ กระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ เลย อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร
เยี่ยมสวนปาล์ม 100 ไร่ ของเกษตรกรดีเด่น จ.หนองบัวลำภู
สวนปาล์มพื้นที่ 100 ไร่ ที่ว่านี้ก็คือสวนปาล์มน้ำมันศศิกานต์ ของ คุณสมโภชน์ กุลสุวรรณ เกษตรกรคนแรกใน อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู.ที่หันมาปลูกปาล์มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว วันนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันจากสวน “ศศิกานต์” กำลังให้ผลผลิตเต็มต้น ยืนยันว่าดินอีสานก็ปลูกปาล์มได้ ซึ่งผลสำเร็จทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรสาขาทำสวนดีเด่นระดับ จ.หนองบัวลำภู ปี 2554
คุณสมโภชน์ หนุ่มแดนใต้ อดีตนักศึกษาช่างกล สถาบันเทคนิคปทุมวัน กรุงเทพฯ กับก้าวเดินในฐานะเกษตรกรตัวอย่างบนดินแดนที่ราบสูง ผู้บุกเบิกผืนดินอีสาน หลังแต่งงานกับคู่ชีวิตชาว อ.ศรีบุญเรือง คุณสมโภชน์ได้เดินทางมาอยู่ที่บ้านแฟน และได้พลิกผืนดินกว่า 100 ไร่ ให้เป็นสวนปาล์มน้ำมันในชื่อสวน “ศศิกานต์” เป็นแห่งแรกของ จ.หนองบัวลำภู ด้วยหลักคิดที่ว่าผืนดินใดมีน้ำก็ทำการเกษตรได้
จากผลผลิตของสวนปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วในพื้นที่ 120 ไร่ ทำให้ปีนี้คุณโภชน์ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่อีก 50 ไร่
ลูกปาล์มในพื้นที่อีสานต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม
คุณสมโภชน์เองมีการศึกษาข้อมูลของสายพันธุ์ปาล์มอย่างละเอียดเช่นกัน ก่อนที่จะเลือกปาล์มพันธุ์ “คอมแพคไนจีเรีย” มาปลูก ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เป็นปาล์มที่เจริญเติบโตในพื้นที่แห้งแล้งอย่างไนจีเนียได้เป็นอย่างดี นับเป็นปาล์มที่ทนต่อต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อยกว่าพันธุ์อื่น เป็นต้นปาล์มที่ต้นเตี้ย ทางใบสั้น และให้ผลผลิตสูง โดยผลผลิตของปาล์มพันธุ์นี้ในช่วงที่ให้ผลผลิตเต็มที่ (7 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิต 5-5.6 ตัน/ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับพันธุ์ของยูนิวานิช ขณะที่ปาล์มพันธุ์สุราษฏร์ธานี 1 ให้ผลผลิต 3.4 ตัน/ไร่ สุราษฏร์ธานี 2 ให้ผลผลิต 2.9 ตัน/ไร่ จึงนับว่าคอมแพคไนจีเรียเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่แห้งแล้งอย่างอีสาน โดยคุณสมโภชน์สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศในรูปแบบเมล็ดพันธุ์บรรจุแคปซูลอย่างดี ในราคาเมล็ดละ 100 บาท จำนวน 3,000 เมล็ด มาเพาะเมล็ดเป็นต้นพันธุ์เอง ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การงอก 100% ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงนำไปปลูกในพื้นที่ 120 ไร่ ในปี พ.ศ. 2548
การจัดการน้ำและปุ๋ยในสวนปาล์ม
ปาล์มที่สวนจะใช้ระยะปลูก 8×8.5 เมตร หรือ 1 ไร่ ประมาณ 24 ต้น การดูแลรักษานั้น ปาล์มน้ำมันถือว่าเป็นพืชที่ดูแลง่าย ที่นี่จะให้ปุ๋ยปาล์มปีละ 2 ครั้งในช่วงต้นฝนประมาณเดือน พ.ค. โดยจะให้ปุ๋ย 6 กก./ต้น ใช้ปุ๋ย 3 สูตร คือ 21-0-0 จำนวน 2 กก. 0-0-60 จำนวน 2 กก. และ 14-7-25 จำนวน 2 กก. คลุกเคล้าแล้วใส่ให้กับต้นปาล์ม ปุ๋ยครั้งที่ 2 ให้ปลายฝนประมาณเดือนกันยายน ใช้สูตรเดิมแต่ลดปริมาณปุ๋ยลงชนิดละครึ่งกิโลกรัม ปุ๋ยอินทรีย์ให้ปีละครั้ง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดบ้าง ปุ๋ยมูลค้างคาวบ้าง ปริมาณการให้ต่อปี 5 กก./ต้น นอกจากนี้ยังเสริมด้วยโบรอนโดยจะใส่ก่อนฝน 2 ครั้งๆละ 2-3 ขีดต่อต้น ซึ่งโบรอนมีความจำเป็นในการให้ผลผลิตของปาล์ม โบรอนช่วยกระตุ้นให้เกิดตาดอก และตายอด ทำให้การผสมเกสรสมบูรณ์แบบ เมื่อขาดโบรอน ปาล์มจะมีลักษณะปลายใบย่อยหักงอเป็นรูปตะขอ ใบหยิกเป็นคลื่น ยอดหัก ทางและใบย่อยเรียวแหลม สั้นผิดปกติ ดอกตัวเมียน้อย การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ผลผลิตลดลง
การให้น้ำที่นี่วางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การขุดสระที่สามารถจุน้ำได้ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตร และขุดบ่อบาดาลอีก 2 จุด วางระบบน้ำสูงถึงไร่ละ 15,000 บาท – 20,000 บาท โดยวางท่อให้สามารถควบคุมการให้น้ำได้ทั่วทั้งแปลงโดยจะมีวาล์วเพื่อปล่อยน้ำเป็นจุดๆ ละ 4 ไร่ ระบบให้น้ำใช้หัวพ่นเจ็ทสเปรย์ติดตั้งต้นละ 2 จุด แต่ละหัวมีอัตราการให้น้ำ 100 ลิตร/ชั่วโมง การให้น้ำแต่ละครั้งจะให้ครั้งละ 1 ชม. ซึ่งปาล์มจะได้รับน้ำ 200 ลิตรต่อต้นต่อครั้ง( 1 ต้น มีหัวพ่น 2 หัว อัตราการให้น้ำหัวละ 100 ลิตร/ชม.) โดยการให้น้ำจะให้ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ฝนทิ้งช่วงและแห้งแล้ง ปริมาณการให้น้ำในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ จะให้ 4 ครั้งๆละ 200 ลิตร/ต้น เดือนมีนาคมอากาศเริ่มร้อนขึ้นเพิ่มการให้น้ำเป็น 6 ครั้ง เดือนเมษายนแห้งแล้งที่สุดเพิ่มการให้น้ำเป็น 8 ครั้ง ทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ขาดน้ำในช่วงหน้าแล้งและสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณสมโภชน์มองว่าน้ำและปุ๋ยมีผลมากต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตปาล์มในพื้นที่ภาคอีสาน เกษตรกรต้องเข้าใจ
นอกจากนี้ก็จะมีการตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม ปาล์มน้ำมันพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือพันธุ์เตี้ย ทางใบสั้น การตัดแต่งกิ่งจึงได้ทำง่าย ซึ่ง 1 ต้นจะต้องมีทางใบ ประมาณ 42-48 ทางใบ เพื่อรักษารูปทรงต้นให้มีความสมดุล เนื่องจากทางใบจะช่วยดึงขยายต้นปาล์มน้ำมันให้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นปาล์มแข็งแรง ทะลายอุดมสมบูรณ์ ที่นี่โชคดีที่ไม่มีปัญหาโรค-แมลงมากเหมือนทางใต้ จึงแทบไม่มีการใช้สารเคมีในการกำจัด
การให้ผลผลิตและการจำหน่ายผลผลิต
โดยปกติแล้วปาล์มจะเริ่มออกดอกให้ทะลายเมื่ออายุประมาณ 27-28 เดือนหลังปลูก แต่ควรจะดึงดอกทิ้งก่อนเพื่อเลี้ยงต้นให้สมบูรณ์ก่อน โดยจะปล่อยให้ออกดอกหรือออกทะลายเมื่อปาล์มอายุ 48 เดือน และจะสามารถเก็บเกี่ยวปาล์มทะลายแรกได้ประมาณ 51 เดือน ในรอบ 1 ปี ปาล์มจะสามารถเก็บเกี่ยวทะลายได้ประมาณ 8-9 เดือน โดยช่วงแล้งตั้งแต่ต้นปี-เดือนพฤษภาคม จะตัดทะลายทุก 20 วัน ช่วงฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิ้นปี จะตัดทะลายทุก 15 วัน ปริมาณการตัดทะลายต่อรอบประมาณ 22-25 ตัน โดยจะตัดทะลายปาล์มทีเดียวทั้ง 100 ไร่ ซึ่งจะใช้เวลาตัดประมาณ 3-5 วันต่อครั้ง ใช้คนตัด 6-7 คน วิ่งเข้าโรงงานประมาณ 2 เที่ยว ผลผลิตทะลายปาล์มจำหน่ายให้กับบริษัท สุขสมบูรณ์ปาล์ม จำกัด ที่ชลบุรี ซึ่งมีเครือข่ายรับซื้ออยู่ในพื้นที่อีสาน โดยราคาปาล์มตอนนี้อยู่ที่ 5.40 บาท/กก. ทางสุขสมบูรณ์จะนำรถสิบล้อเข้ามารับทะลายปาล์มถึงสวน โดยหักค่าขนส่งทะลายปาล์ม 1 บาท/กก. แต่คุณสมโภชน์จ่ายค่าขนส่งเพียง 70 สตางค์/กก. ทางโรงงานช่วยออกค่าขนส่งอีก 30 สตางค์ เนื่องจากปาล์มที่สวนให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูง โดยมีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 24-26 % ขณะที่ปาล์มน้ำมันสายพันธุ์เดิมๆ ที่ปลูกกันเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพียง 18-20 % เท่านั้น น้ำหนักต่อทะลายมีตั้งแต่ 6 กก.ถึง 18 กก. โดยปาล์มคอมแพ็คไนจีเรียที่สวนอายุ 5 ปีเศษมีปริมาณการให้ผลผลิตที่ 4.1-4.2 ตัน/ไร่ และคาดว่าในปีที่ 7 จะมีปริมาณการให้ผลผลิต 5-5.6 ตัน/ไร่
ปาล์มน้ำมันในผืนดินอีสานน่าจะเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในแถบนี้ที่น่าจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากราคาและผลตอบแทนที่จูงใจ เมื่อก่อนปาล์มน้ำมันราคา 1.20-1.50 บาท/กก. ปี 55-56 ราคาปาล์ม 5-6 บาท/กก. แต่มาปีนี้ราคาปาล์มตกลงมาเหลือ 4.30-4.50 บาท หากเทียบกับยางพาราแล้วคุณสมโภชน์มองว่า ปาล์มน้ำมันมีความได้เปรียบกว่ามาก ทั้งการดูแลจัดการที่ต่ำกว่า ที่สวนปาล์มแห่งนี้ พื้นที่ 150 ไร่ ใช้คนงาน 6 คน ปาล์มเดือนหนึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 ครั้ง แต่ยางพาราต้องกรีดทุกวัน กรีดตอนเช้ามืดและต้องทำยางแผ่นตอนกลางคืนเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก ต้องแบ่งผลประโยชน์กับคนกรีดอย่างละครึ่ง ยิ่งกว่านั้นผลผลิตยางที่ได้ก็ต่ำกว่าทางใต้มาก ปริมาณน้ำยางที่ได้ จำนวนวันกรีดก็น้อย ยังจะปัญหาการเจริญเติบโตจากสภาพความแห้งแล้งอีก ยางปลูกใหม่เมื่อเจอสภาพที่แห้งแล้งมากยอดจะหักพับลงมา เสียหายเยอะ อีกทั้งกว่าที่ยางจะโตมีขนาดลำต้นได้มาตรฐานที่กรีดได้ต้องใช้เวลาเกือบ 8 ปี ซึ่งชาวสวนมักจะรอไม่ไหวและกรีดยางก่อนกำหนดกันเป็นส่วนใหญ่ นี่คือคำตอบของคนที่ปลูกยางพารามากถึง 80 ไร่ ที่ตอนนี้ยางอายุ 18 ปีแล้ว ซึ่งคุณสมโภชน์บอกว่า คงจะรื้อยางแปลงนี้ออกแล้วลงปาล์มแทนหลังจากที่ได้คำตอบในหลายๆเรื่องของปาล์มและยางที่เขาสัมผัสด้วยตัวเอง
ปัจจุบันสวนศศิกานต์เป็นแหล่งผลิตกล้าปาล์มคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร โดยผลิตกล้าปาล์ม 2 สายพันธุ์ คือ โกลเด้น เทเนอร่าและคอมแพ็คไนจีเรีย และปีหน้าจะเพิ่มกล้าปาล์มอีก 2 สายพันธุ์ คือ เดลี่ กาน่าและเดลี่ ลาแมร์ โดยจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศทั้งหมด จึงมั่นใจได้ว่าเป็นพันธุ์แท้และคุณภาพดี
วันนี้ที่นี่…เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่สนใจของจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอื่นๆ ที่สนใจปลูกปาล์มได้เข้ามาดูงานกันไม่ขาดสาย หากเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะศึกษาข้อมูลหรือดูงานสามารถติดต่อได้ที่คุณสมโภชน์ กุลสุวรรณ บ้านนาทับควาย ต.หนองบัวใต้ อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู โทร.085-4590539 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอศรีบุญเรือง โทร.0-4235-3764
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร
แหล่งที่มา: http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539824503&Ntype=8