Auto Draft

ผักลิ้นห่าน ตำนานผักพื้นบ้านอันดามัน

ผักพื้นบ้านของภาคต่างๆ มีความแตกต่างกันตามภูมิอากาศหรือภูมิประเทศ ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมกับพืชพรรณนานาชนิด มากเสียจนเหลือให้ต่างชาตินำไปวิจัยแล้วจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง ผักหลายชนิดมีขึ้นทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย เช่น ตำลึง แต่มีผักบางชนิดมีเฉพาะภาคใดภาคหนึ่ง และมีผักบางชนิดหายาก ขึ้นเฉพาะบางภูมิประเทศที่เหมาะสม คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยรู้จัก มีเพียงเฉพาะคนในท้องถิ่นได้อาศัยเป็นอาหารหรือใช้ประโยชน์จากผักนั้น

มีโอกาสได้ไปกินเจที่ศาลเจ้าท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ไปนั่งฟังเสียงคลื่นที่หาดท้ายเหมือง ใกล้บริเวณที่ค่ายทหารเรือโดนสึนามิ หวนคิดถึงความหลังตอนเด็ก จึงไปเดินหาผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่คนรู้จักน้อยมาก ในชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า ผักลิ้นห่าน ปรากฏว่าหาไม่เจอเลย สอบถามชาวบ้าน เขาว่าแถบชายหาดไม่มีแล้วเพราะถูกเก็บกินกันหมด ถ้าจะมีเหลือก็เป็นในแถบอุทยานท้ายเหมืองที่จะต้องเลยเข้าไปลึกหน่อย จึงถือโอกาสซอกแซกหาข่าวมานำเสนอ

ผักลิ้นห่านเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก สำหรับคนที่ไม่รู้จัก จินตนาการได้เลยว่ามีลักษณะยาวๆ เหมือนลิ้นห่าน ซึ่งก็เป็นจริง ผักชนิดนี้ขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทราย มีร่มเงาบ้าง แดดจ้าบ้าง แต่ในส่วนที่มีร่มเงารำไรบ้างผักจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า พบตามธรรมชาติมากที่หาดท้ายเหมืองจังหวัดพังงา และหาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ส่วนจังหวัดกระบี่ก็มีข้อมูลว่าพบเช่นกัน

ในสมัยเด็กๆ ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวชายหาดท้ายเหมืองกัน ก็จะทำปิ่นโตใส่กับข้าวไปกินตามชายหาด หลังจากกินเสร็จก็จะล้างปิ่นโตด้วยน้ำทะเลจนสะอาดแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาหาผักลิ้นห่านที่ขึ้นตามชายหาด นำมาใส่ปิ่นโตบ้าง ตะกร้าบ้าง ต่างคนต่างแข่งกันว่าใครจะหาผักลิ้นห่านได้มากกว่ากัน ไม่นานเท่าไรก็ได้ผักลิ้นห่านเต็มตะกร้า แล้วค่อยเดินกลับบ้าน พอตอนเช้าแน่ใจได้เลยว่าจะได้ลิ้มรสเมนูผักลิ้นห่านที่เก็บมาอย่างสมอยาก เมนูที่นิยมมากที่สุด คือผักลิ้นห่านต้มกะทิ

สมัยนี้หาดทรายชายทะเลฝั่งอันดามันมีนักท่องเที่ยวมาก มีการทำธุรกิจบนชายหาด ทำร้านอาหาร เทคอนกรีตเป็นทางเดินบ้าง และที่ดินที่มีราคาแพงมาก ทำให้ผักลิ้นห่านสูญหายไปจากชายหาดโดยทั่วไปมานานแล้ว ยังมีเหลือก็เฉพาะในพื้นที่ที่อนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้ยินเท่านั้น จึงได้มีโครงการของท้องถิ่นปลูกเพื่ออนุรักษ์ไว้ แต่ทำไปแบบเห่อๆ เท่านั้น ไม่เป็นโล้เป็นพายเท่าไรนัก

ผักลิ้นห่านมี ชื่อวิทยาศาสตร์ : Launaea sarmentosa อยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสั้นๆ และมีไหลทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกกอเป็นช่วงๆ คล้ายต้นสตรอเบอรี่ ใบรียาวคล้ายลิ้นห่าน ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายใบแหลม ใบยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร 1 ต้น มีใบประมาณ 7-15 ใบ สีเขียวเข้ม แต่ในที่แสงแดดจ้าใบจะเหลือง ดอกเป็นช่อ มีริ้วประดับซ้อนกันเป็นรูปกรวยคว่ำ ช่อดอกมีสีเหลือง ผลแห้ง รูปยาวรี ปลายเมล็ดมีขนสีขาว ปลิวตามลมไปได้ไกล

ผักลิ้นห่านต้มกะทิ

เมนูต้มกะทิของชาวใต้มีหลายเมนู เพราะมะพร้าวเป็นต้นไม้หลังบ้านที่หาได้ง่าย การประกอบอาหารใส่กะทิจึงเป็นที่นิยมของท้องถิ่น ต้มกะทิใช้แทนแกงจืดของไทยเชื้อสายจีน หรือแกงเลียงของไทยเอง เพราะต้มกะทิเป็นอาหารรสหวานไม่เผ็ด เด็กๆ และคนสูงวัยชอบ เอาไว้ช่วยกับข้าวมื้อนั้นไม่ให้เผ็ดมาก สมัยเด็กต้มกะทิผักลิ้นห่านจึงเป็นเมนูที่ชอบเป็นพิเศษ ทำออกจะง่ายดังนี้ เตรียม ผักลิ้นห่านไว้ 150 กรัม กุ้งสด 100 กรัม หรือกุ้งแห้ง หัวหอมสัก 4-5 หัว กะทิ 1 กล่อง แต่ถ้าเป็นกะทิสดก็จะอร่อยกว่า ใช้ปริมาณ 250 กรัม กะปิดีใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าชอบกลิ่นกะปิหนักๆ ใส่พูนช้อน พร้อมทั้งเกลือและพริกไทยดำอีกนิดหน่อยถ้าชอบ สูตรนี้ใช้ได้กับต้มกะทิอื่นๆ ของเมนูภาคใต้ เช่น ต้มกะทิหน่อไม้สดซึ่งอาจใส่สะตอสดและชะอมลงไปด้วย ต้มกะทิผักเหมียง จริงๆ แล้วภาษาใต้เรียก ต้มทิ สั้นๆ ไม่ใช้คำว่า กะทิ

ตั้งหม้อบนไฟกลาง ใส่น้ำกะทิลงไปโดยไม่ต้องแบ่งเป็นหัวกะทิหางกะทิก็ได้ สักครึ่งหนึ่งก่อนค่อยเติมกันทีหลัง หรือใส่ทั้งหมดก็ได้ พอน้ำกะทิเริ่มร้อนใส่กะปิกับหัวหอมตำหยาบๆ ลงไปก่อน บี้ให้กะปิละลายในน้ำกะทิจนหมด ขอเน้นให้เอากะปิอย่างดี อย่าเอากะปิแกงมาทำเพราะจะทำให้รสชาติไม่อร่อย เอากุ้งสดที่ปอกเปลือกหรือผ่าหลังเหลือแต่หางลงไป แต่เมนูของผมใช้กุ้งแห้งประมาณ 50 กรัม ตำให้ฟูเป็นปุยใส่ลงไป ใส่เกลือและพริกไทยดำที่ตำแล้วแค่ปลายช้อนหรือไม่ชอบเค็มก็ไม่ต้องใส่เพราะกุ้งแห้งเค็มอยู่แล้ว

พอน้ำเดือดใส่ผักลิ้นห่านลงไป ถ้าผักเป็นกอเล็กใส่ได้ทั้งกอ แต่ถ้าเป็นกอใหญ่ควรแบ่งให้เล็กลง ผักเริ่มสลดก็ยกลงได้ทันที กินร้อนๆ จะอร่อยมาก รสชาติของเมนูนี้จะหวานหอมอ่อนของน้ำกะทิเป็นตัวนำ ตามมาพร้อมกันความเค็มของเกลือและกุ้งแห้ง รวมถึงความหอมของกุ้งแห้งด้วย ผักลิ้นห่านจะอ่อนนุ่นคล้ายผักปวยเล้งที่ใส่ในแกงจืดหรือต้มเลือดหมู

ส่วนเมนูอื่นที่นำผักลิ้นห่านไปปรุง เช่น ผัดไฟแดง ผัดน้ำมันหอย ผัดกับกุ้งเสียบ หรือนำไปดองเป็นผักเคียง หรือกินสดๆ กับน้ำพริกก็ยังได้ การดองโดยการเคล้าเกลือปล่อยให้ผักสลด แล้วจึงใส่น้ำซาวข้าวหรือน้ำเปล่า ใช้เวลา 2-3 วัน ก็นำมากินได้

การขยายพันธุ์

เท่าที่มีความรู้ ผักลิ้นห่านขยายพันธุ์ได้ 3 วิธี

การตัดต้นเก่าให้เหลือโคนต้นไว้สัก 2 มิลลิเมตร เมื่อรดน้ำบำรุงต้นใบก็จะงอกมาใหม่หรือแตกหน่อข้างถอนต้นเล็กที่เกิดจากไหลเหมือนสตรอเบอรี่นำมาปลูกใหม่โดยให้ติดราก วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการขยายพันธุ์ ส่วนวิธีสุดท้ายโดยเพาะเมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบามาก แต่จากการทดลองนำเมล็ดแก่มาโรย 2 ครั้ง ก็ไม่ปรากฏว่างอกเลยสักต้น แต่ก็ไม่กล้าฟันธงบอกว่าไม่ได้ เพราะอาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในการปลูกไม่เหมาะสมเหมือนกับในธรรมชาติก็ได้

การปลูก และดูแลรักษา

ผักลิ้นห่าน เป็นผักที่ขึ้นตามบริเวณแถบชายทะเลเฉพาะฝั่งอันดามัน 3 จังหวัด มีลักษณะดินและสภาพแวดล้อมเฉพาะ การนำมาปลูกนอกเหนือจากถิ่นค่อนข้างยาก แต่สำหรับในพื้นที่ชายทะเลอื่นน่าจะปลูกได้ ส่วนการนำมาปลูกเป็นพืชผักในครัวเรือนจากการทดลองปลูกยังไม่ค่อยมั่นใจนัก เนื่องจากบางครั้งก็เจริญเติบโตได้ดีในการปลูกด้วยดินพร้อมปลูก 6 ถุงร้อย แต่พอเจริญเติบโตไปสักระยะหนึ่งต้นก็ยุบลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาได้นำทรายก่อสร้างเจือลงไปสัก 3 ใน 10 ส่วน ปัญหานี้ก็ไม่เกิด แต่การเจริญเติบโตไม่ดีนัก ในการปลูกเลี้ยงที่ทดลองนี้เป็นแบบเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี

ต่อมาได้มีโอกาสเจอกับเกษตรกรที่ปลูกผักลิ้นห่านไว้ขายที่ตำบลไม้ขาว อำเภอฉลอง จังหวัดภูเก็ต คือ ลุงซ่วนบิ่น แซ่เฮียบ บอกว่า ตอนแรกปลูกผักลิ้นห่านเอาไว้กินเอง แต่ต่อมาจำนวนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พอดีมีคนต้องการเนื่องจากในธรรมชาติหมดลง จึงนำมาขาย จากการปลูกไว้ข้างบ้านซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนักก็ไม่พอจำหน่าย จึงนำมาปลูกเพิ่มบริเวณใกล้ชายหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นพื้นทรายบนดินตามที่ผักลิ้นห่านเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยจะมีการหว่านปุ๋ย สูตร 16-16-16 ทุก 15 วัน ผักที่นำต้นเล็กมาปลูกจะใช้เวลาประมาณ 40 วัน ก็สามารถตัดมาจำหน่ายได้

ในช่วงหน้าฝนเนื่องจากฝนที่นี่ตกค่อนข้างชุกจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย ส่วนในช่วงหน้าแล้งจะคอยรดน้ำบ้าง ปัจจุบันลุงซ่วนบิ่นจำหน่ายให้กับร้านอาหารในจังหวัดภูเก็ตในราคากิโลกรัมละ 200 บาท สัปดาห์หนึ่งจะตัดผักเพียงครั้งเดียวและได้ผักลิ้นห่านแค่ 3-4 กิโลกรัม เนื่องจากการปลูกผักลิ้นห่านนี้เป็นงานอดิเรก

ผักพื้นบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ มีมากมายหลายชนิดล้วนแต่มีประโยชน์ ไม่ด้านอาหารก็ด้านยารักษาโรคหรือมักจะได้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง การอนุรักษ์ผักเหล่านี้ทำให้ผักพื้นบ้านไม่สูญพันธุ์ไปจากบ้านเราเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในชีวิตเราถ้าซ้ำซากจำเจอยู่กับผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว เหมือนคนเมือง ชีวิตชนบทเราคงอับเฉาไปแยะ

ที่มา: https://www.matichon.co.th/sme/news_391723
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/knowledge/%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99-%e0%b8%95%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save