แนะใช้ ไตรโคเดอร์มา แก้โรคพืชในพริกไทย
นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มอบหมายให้กลุ่มอารักขาพืช โดยนายจิรประวัติณ์ ไทยประสิทธิ์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช พร้อมด้วยนางสาวสาวรีย์ จันทร์คำ และนางสาวนวรัตน์ ประภูชะกัง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่ตามคำร้องขอของเกษตรกรเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคในพริกไทย
ตามที่ได้รับแจ้งจากนายวีระ พึ่งประดิษฐ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย บ้านหนองทอง หมู่ 10 ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกพริกไทย 7 ไร่เกษตรกร 15 ราย
ซึ่งพบว่า พริกไทยเกิดอาการใบเหลือง และลำต้นบางส่วนแห้งตาย จำนวน 5 ราย บนพื้นที่ 4 ไร่ จากผลการลงพื้นที่สำรวจวินิจฉัยพบว่า เป็นลักษณะอาการของโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะพบในช่วงฤดูฝน และบริเวณแปลงที่มีน้ำท่วมขัง มีสาเหตุจากเชื้อรา Phytophthora spp. โดยเชื้อราจะเข้าทำลายบริเวณรากฝอยและลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้นพริกไทย
โดยส่วนที่ถูกทำลายจะเกิดอาการเน่า เป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ หากเป็นมากท่อน้ำและท่ออาหารจะถูกทำลายทำให้การลำเลียงน้ำและแร่ธาตุหยุดชะงัก จากนั้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วงหล่น และลำต้นตายลง
และจากผลของการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงที่มาของปัญหาจึงได้ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดแก่เกษตรกร โดยให้เกษตรกรจัดการพื้นที่ปลูกในแปลงของตนเองให้มีทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน
พร้อมทั้งนำเถาพริกไทยที่เป็นโรคไปเผาทำลายเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด และแนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับแปลงที่ไม่มีการระบาดมาก ส่วนแปลงที่มีการระบาด ของโรคเป็นจำนวนมากได้แนะนำให้ใช้สารเคมีฟอสอีทิล อลูมิเนียม (80% ดับเบิลยู พี) หรือฟอสฟอริค–แอซิค (40% แอล) ละลายน้ำฉีดพ่นให้ทั่วต้นและบริเวณหลุมปลูก โดยควรหยุดใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน
สำหรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว
เชื้อราชนิดนี้เป็นศัตรูต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งอาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตปฏิชีวะสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืชอีกด้วย
และคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโค เดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ใน รูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค