แกล้งชะอม เทคนิคสุดยอดของเกษตรกรตัวอย่างเพิ่มผลผลิตมากขึ้น 50% เพิ่มกำไรเท่าตัว
ลุงนู หรือนาย มนู กาญจนะ วิทยากรหลักของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้เริ่มทำเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยพืชชนิดแรกที่เริ่มปลูก คือ ถั่วเหลือง ปลูกในเนื้อที่ทั้งหมด 12 ไร่ แต่เนื่องจากปลูกได้ปีละครั้ง จึงได้เกิดความคิดใหม่ ๆ และให้ความสนใจที่จะปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อทดแทนการปลูกเพียงแค่ถั่วเหลือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ลุงนู ได้เริ่มปลูกมะขามหวานเพชรบูรณ์ เพราะได้ยินข่าวจากคนรอบข้างว่า “ได้กำไรงาม” ปรากฏว่าหลังจากที่ดูแลมาอย่างตลอดระยะเวลาหลายปี มะขามหวานก็ไม่ติดผลเลย เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิศาสตร์ และสภาพดินที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องโค่นต้นมะขามทิ้งทั้งหมด
ต่อมาได้หันมาทดลองปลูกมะไฟหวาน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านผลผลิต แต่กลับ “ประสบปัญหาในด้านการตลาด” เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดมาก ราคาตกต่ำ และไม่สามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นาน สุดท้ายก็ต้องโค่นต้นมะไฟหวานทิ้งทั้งหมดอีกเช่นเคย
ต่อมาได้หันมาปลูกมะม่วงเขียวเสวย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องโค่นต้นทิ้งเกือบหมด เหลือไว้เพียงบางส่วน แล้วหันมาปลูกส้มเขียวหวาน ด้วยต้นทุนที่สูงมาก ทำให้เกิดการขาดทุนเหมือนเดิม
ถึงแม้ลุงนูจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่เคยย่อท้อ เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และด้วยเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ทำให้ลุงนูปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก ที่สำคัญได้ศึกษาและน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง ทำให้มีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสาน เก็บผลผลิตในสวน เช่น ผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ไม้ผลตามฤดูกาล จำหน่ายในตลาดนัดท้องถิ่น สัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์ พุธ เสาร์ และจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปทุกวันตามแต่ที่จะมีผู้ซื้อมาติดต่อขอซื้อถึงที่ แต่ก็ประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะ “ชะอม” ซึ่งเป็นผักพื้นบ้าน ราคาดี มีความต้องการมาก
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ลุงนู จึงได้เริ่มคิดหาวิธีเพิ่มผลผลิต จึงได้ลองผิดลองถูก และได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงาน จากการอ่านบทความทางการเกษตรต่าง ๆ มาปรับใช้ จนเกิดเทคนิคการเพิ่มผลผลิตผักชะอมให้เพิ่มขึ้น และมีผลผลิตออกจำหน่ายตามความต้องการของตลาด โดยเทคนิคที่กล่าวมาคือ “การแกล้งชะอม”
เทคนิคการแกล้งชะอม
1.ก่อนถึงฤดูกาลที่ชะอมจะออกสู่ท้องตลาด ประมาณ 45 วัน สำรวจความสมบูรณ์และการเจริญเติบโตของต้นชะอมก่อน หากพบวาต้นไหนไม่ค่อยสมบูรณ์ และแคระแกรน ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสด เพื่อบำรุงต้น และกำจัดวัชพืชรอบ ๆ ต้นให้เรียบร้อย
2.ประมาณปลายเดือนมกราคม เริ่มคัดเลือกชะอมต้นแม่ที่สมบูรณ์ แข็งแรงดี เลือกกิ่งที่แก่พอดี โดยสังเกตจากลักษณะเปลือกมีสีน้ำตาล ขนาดเส้นรอบวง ประมาณ 2 นิ้วขึ้นไป
3.ใช้มีดที่คม และสะอาดเปิดปากแผลกิ่งผักชะอมในระดับความสูงจากพื้นดิน ประมาณ 1 เมตร หรือตามความเหมาะสม เพื่อสะดวกและง่ายในการเก็บยอดผักชะอม
4.เลือกเปิดปากแผลกิ่งชะอมในทิศตรงข้ามกับที่ต้องการให้กิ่งผักชะอม โน้มกิ่งลงโดยใช้เชือกฟางมัดช่วยให้กิ่งโน้มไปในทิศทางที่เราต้องการ และช่วยยึดให้กิ่งอยู่กับที่ แนะนำให้โน้มกิ่งในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะให้กิ่งได้รับแสงแดดเต็มที่ บาดแผลจากการเปิดแห้งเร็ว สมานแผลได้เร็ว
5.งดการให้น้ำ ประมาณ 1 อาทิตย์ หรือจนกว่าจะสังเกตเห็นใบผักชะอมเริ่มเหี่ยว และมีสีเหลือง และร่วงหล่นไปในที่สุด จึงเริ่มให้น้ำวันเว้นวัน เพราะต้นชะอมชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่าตายได้ ประมาณ 1 อาทิตย์ ชะอมก็จะเริ่มแตกยอดอ่อนมาให้เก็บขาย หรือบริโภคได้แล้ว วิธีนี้สามารถเพิ่มผลผลิตของชะอมได้ถึง ร้อยละ 50 เลยทีเดียว ไม่มีต้นทุนอะไรเลย นอกจากแรงงาน ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นาน
6.เทคนิคและความชำนาญเฉพาะสำหรับการเปิดปากแผล น้ำหนักด้วยการฟันด้วยมีดต้องพอดี ต้องใช้มีดที่มีขนาดเหมาะมือ และมีความคม เพื่อที่เมื่อใช้มีดฟันลงไปแล้ว จะได้บาดแผลเดียว ความลึกที่พอดี คือฟันให้ได้ ¾ ของกิ่ง แผลที่ฟันไม่เสียหาย และสวยงาม ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ และฝึกฝนเป็นพิเศษ