พุทรานมสด
20Feb,17
สำหรับ “พุทรานมสด” ต้องบอกว่าเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เป็นพุทราที่ใช้เทคนิคการใช้นมสดมาใส่ ทำให้เนื้อพุทรานั้นหอมหวานกรอบอร่อย ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” ร่วมคณะของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเยี่ยมชม “ไร่ชัยชนะ&ชลลดา” ไร่พุทรานมสดที่ขึ้นชื่อว่าอร่อย และปลอดสารเคมี ซึ่ง “พิชัย ดอนกลาง” เจ้าของไร่ ก็ได้แบ่งปันเคล็ดลับความรู้การปลูกพุทรานมสดที่อร่อยมาให้ลองพิจารณากัน
พิชัย เจ้าของไร่ผู้ปลูกพุทรานมสด เล่าว่า ก่อนที่จะทำไร่พุทรานั้นเคยทำงานเป็นพนักงานโรงแรมอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ในเมืองหลวงค่าครองชีพสูงทำให้เงินเดือนไม่ค่อยเหลือ จึงตัดสินใจเดินทางมาที่ อ.วังนํ้าเขียว มาทำการเกษตร ในที่ดินของพ่อตา ในช่วงแรกก็ปลูกข้าวโพด ปลูกดอกเบญจมาศ ปลูกผักสลัด แต่ปัจจุบันเลิกปลูกพืชเหล่านี้แล้ว หันมาปลูก “พุทรานมสด” จากการที่มีคนนำพันธุ์พุทราที่เป็นพันธุ์จากไต้หวันมาให้ทดลองปลูก บอกว่าปลูกง่าย จึงลองปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ โดยได้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินกู้ 130,000 บาท ในการลงทุน
การลงมือปลูกพุทรานมสด ก็เริ่มจากศึกษาวิธีการปลูกการดูแลพุทราอย่างจริงจัง มีการอบรมที่ไหนก็ไปฟัง เรียนรู้ศึกษาด้วยตัวเอง จนสามารถพัฒนาการปลูกพุทรานมสดในไร่ ทำให้ผลผลิตนั้นมีคุณภาพ หอมหวานกรอบ ไร้สารเคมี ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ซึ่งในการปลูกครั้งแรก 3 ไร่ สามารถผลิตพุทราขายได้ 500,000 บาท หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายพื้นที่ปลูกขึ้นมาอีก 2 ไร่ เป็น 5 ไร่
การปลูกพุทรานมสดนั้น เริ่มจากการขุดหลุมประมาณ 50×50 ซม. ใช้ปุ๋ยคอกโรยรองก้นหลุม นำต้นพันธุ์ลงปลูก โดยปลูกระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5×5 เมตร หากเป็นที่ลุ่มให้ทำการยกร่องตรงกลางเพื่อป้องกันนํ้าท่วม ในการปลูก 1 ไร่ สามารถปลูกต้นพุทราได้ประมาณ 64 ต้น ค่าต้นพันธุ์ก็อยู่ที่ต้นละประมาณ 150 บาท
การปฏิบัติดูแลรักษา การดูแลให้นํ้าควรให้วันละ 1 ครั้ง จนถึง 3 เดือน ก็ให้นํ้าวันเว้นวัน หรือจะให้ 3 วันครั้งก็ได้ ให้ดูที่สภาพดิน การให้ปุ๋ยนั้นให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15x15x15 ใส่เดือนละครั้ง ทั้งปี ส่วน “นํ้าหมักนมสด” ที่ทำให้เป็น “พุทรานมสด” นั้นจะรดทุก 10 วัน ตอนที่ต้นพุทราเริ่มออกลูก โดยนํ้าหมักนมสดนี้จะเป็นตัวเสริมแคลเซียมให้กับพุทรา ทำให้พุทราเนื้อแน่น กรอบ และหอม
สูตรนํ้าหมักนมสดนั้น ใช้ส่วนผสมคือ.นมวัว 60 ลิตร (ต้องใช้นมวัวสดที่มีคุณภาพถ้าต้องการให้พุทรามีคุณภาพ โดยซื้อจากฟาร์มในราคาลิตรละประมาณ 25 บาท) กากนํ้าตาล 30 ลิตร และเชื้อจุลินทรีย์ 10 ลิตร นำมาผสมรวมกันในถังหมักทิ้งไว้ 30 วัน การใช้ ก็ใช้นํ้าหมัก 1 ลิตร ผสมนํ้า 100 ลิตร แล้วทำการรดต้นพุทรา
เพื่อที่จะทำให้พุทราหวาน ก็จะต้องทำการเด็ดผลพุทราที่ออกใน 1 ต้น ออกไป 50% เช่นพุทรา 1 ต้น ออกลูกประมาณ 100 กิโลกรัม ก็ให้เด็ดพุทราลูกที่ไม่สวยออกไป 50% ถ้าปล่อยให้ปริมาณลูกพุทราเยอะเกินไป จะทำให้ไม่หวาน
แล้วพอผลพุทรานั้นเริ่มโตประมาณเท่าเหรียญ 10 บาท ก็ให้ ใช้ถุงพลาสติกห่อ ถุงละ 1 ผล โดยเลือกผลที่ดูสวยไม่บิดเบี้ยว วิธีนี้เป็นวิธีการป้องกันแมลง ซึ่งสามารถป้องกันได้ 100% โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลง และการป้องกันแมลงอีกวิธีหนึ่งของไร่ชัยชนะก็คือ การนำ ลูกเหม็น มาผูกติดไว้ตามปลายกิ่ง
หลังจากห่อผลพุทราแล้วก็ให้ดูแลรดนํ้า ใส่ปุ๋ย รดนํ้าหมักนมสด ตามปกติ นอกจากนั้นก็คอยดูแลตัดแต่งกิ่ง จนประมาณ 7 เดือน ก็สามารถเก็บผลขายได้ ซึ่งจะเก็บลูกที่แก่ประมาณ 70% โดยดูจากขั้วพุทราจะยุบลงไปในผลพุทรา
“พุทรานมสดจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 6 เดือน ซึ่งในระยะแรกไม่ควรเก็บผลผลิต ควรปลิดทิ้ง เพราะต้นพุทราอายุน้อยเกินไป ต้นยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ควรตัดแต่งรอผลผลิตรุ่นที่ 2” ผู้สันทัดกรณีแนะนำ
และยังบอกว่า หลังจากที่ต้นพุทรานมสดนั้นให้ผลผลิตแล้วใน 1 รอบ ประมาณ 7-8 เดือน ก็ทำการตัดแต่งกิ่ง โดยตัดกิ่งต้นพุทราออกให้เหลือความยาวประมาณ 1 คืบ แล้วก็ดูแลปกติ ประมาณ 4 เดือน ต้นพุทราก็เริ่มเจริญเติบโต และออก ลูกในรอบใหม่ พอได้ระยะ 7 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้การลงทุนทำไร่พุทรานั้น ใช้เงินทุนประมาณ 90,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมที่ดิน) ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 3,300 กิโลกรัม/ไร่/ปี โดยพุทรานมสดจะขายในราคากิโลกรัมละประมาณ 50 บาท
รายได้ 1 ปี ก็อยู่ที่ประมาณ 165,000 บาท หักทุนต่อไร่แล้วก็จะเหลือรายได้ประมาณ 75,000 บาท /ไร่/ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ
“พุทรานมสดปลูกได้ทุกที่ ทั้งในที่ดอนและที่ราบลุ่ม ตั้งแต่ดินเหนียว ดินทราย จนถึงดินลูกรัง” พิชัย บอก
ผู้ที่สนใจ “พุทรานมสด” อยากซื้อรับประทาน หรืออยากศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากพิชัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ “ไร่ชัยชนะ&ชลลดา” อยู่ที่ อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา เบอร์โทรศัพท์ติดต่อคือ
08-7239-2004 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ทางด้านการเกษตร ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลย
ที่มา: http://alangcity.blogspot.com/2014/01/blog-post_29.html