ปลูกฟักทองญี่ปุ่น แบบมีกินมีขาย
ฟักทองญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ ตั้งแต่ ผล ยอดอ่อน ดอก และเนื้อที่อยู่ในเมล็ด เนื้อฟักทองญี่ปุ่นที่ดี ต้องแน่นและเหนียว สามารถนำผลมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง ผัด แกงเผ็ด ต้มจิ้มน้ำพริก หรือต้มน้ำตาลคลุกงา ผสมเกลือป่น รับประทานคล้ายขนมหวาน
ฟักทองญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ ตั้งแต่ ผล ยอดอ่อน ดอก และเนื้อที่อยู่ในเมล็ด เนื้อฟักทองญี่ปุ่นที่ดี ต้องแน่นและเหนียว สามารถนำผลมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง ผัด แกงเผ็ด ต้มจิ้มน้ำพริก หรือต้มน้ำตาลคลุกงา ผสมเกลือป่น รับประทานคล้ายขนมหวาน
ตลอดถึงนำมาทำฟักทองแกงบวด สังขยาฟักทอง ฟักทองเชื่อม ดอกฟักทอง และยอดฟักทองนำมาแกงส้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริก เมล็ดก็นำมาอบแห้ง กินเนื้อข้างใน
เป็นประเภทผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีสารเบต้าแคโรทีน ค่อนข้างสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เมล็ดฟักทองช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากโต ป้องกันและรักษาโรคนิ่ว ป้องกันโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับการปลูกนั้น เริ่มที่การเตรียม กล้า ซึ่งควรทำแบบประณีตในถาดหลุมขนาดใหญ่ และย้ายไปปลูกในแปลงเมื่อใบเลี้ยงงอก ประมาณอายุ 6-8 วัน โดยไม่ต้องรอใบจริง
การเตรียมดินปลูกควรโรยปูนขาวในอัตรา 0-100 กรัมต่อตารางเมตร และขุดดินตากแดด 14 วัน เก็บเศษวัชพืชออกให้สะอาด เตรียมดินขึ้นแปลง สูง 25-30 เซนติเมตร กว้าง 3 เมตร ขุดหลุมกว้าง 80 และลึก 30 เซนติเมตร ห่างกันหลุมละ 100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร คลุกปุ๋ยคอกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น กลับดินให้เข้ากัน กลบดินเต็มหลุม รดน้ำในหลุมให้ชุ่ม และควรปลูกในเวลาเย็น ข้อควรระวัง คือไม่ควรย้ายต้นกล้าเมื่ออายุต้นแก่เกินไป คือไม่ควรเกิน 10 วัน นับจากเริ่มงอก
และปลูกเพื่อเอาผลผลิตที่ได้คุณภาพต้องทำค้างด้วย โดยทำสูงจากพื้นดินประมาณ 1-1.50 เมตร การตัดแต่งผลให้เหลือไว้ 1 ลูกต่อกิ่ง เพื่อให้ได้ผลที่สมบูรณ์และขนาดตามที่ตลาดต้องการ ในการเก็บผลไว้ ควรตรวจดูให้ละเอียด ว่ามีรอยแผลแมลงเจาะวางไข่ ไว้หรือไม่ ตั้งแต่ผลเล็ก จากนั้นใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มผลไว้เพื่อป้องกันแมลงเจาะวางไข่
ส่วนกรณีปลูกแบบเลื้อย ควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองผลและห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทองและสีผิวเสีย ตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ เช่นกัน การให้น้ำ ให้น้ำตามความเหมาะสม ใน ช่วงแรกรดน้ำโดยการใช้สปริงเกลอร์
เมื่ออายุประมาณ 105-120 วันนับจากวันเริ่มเป็นลูกเล็ก ๆ หรือผิวมีสีเข้มมันแข็งแรง ขั้วผลจะเป็นสีน้ำตาล และขนาดเล็กลง ก็สามารถเก็บมาใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการได้ การเก็บให้ใช้มีดหรือกรรไกรตัดขั้ว แล้วล้างทำความสะอาดผลและทาปูนแดงที่ขั้วแล้วนำไปผึ่งไว้ในที่เก็บ
ปัญหาที่อาจจะเจอในการปลูกฟักทองญี่ปุ่นในฤดูแล้ง ต้องระวังเพลี้ยไฟ มักจะเข้าทำลายต้นกล้าระยะการเจริญเติบโต ช่วงนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษ ในระยะกล้าประมาณ 6-8 วัน มักมีเพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว เข้าทำลาย ระยะย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงไปจนถึงช่วงเจริญเติบโตประมาณ 8-20 วัน มักจะเกิดโรคราแป้ง โรคไวรัส เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว
ไปจนถึงระยะติดผลคือที่ประมาณ 40-80 วัน มักจะเจอกับโรคราแป้ง โรคไวรัส เพลี้ยไฟ แมลงวันแตง แมลงหวี่ขาว และระยะโตเต็มที่ที่ประมาณ 105-110 วัน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคราแป้ง โรคไวรัส เพลี้ยไฟ แมลงวันแตง และแมลงหวี่ขาว
ซึ่งหากดูแลและป้องกันโรคเหล่านี้ได้ดีเท่าไหร่ ก็จะได้รับผลผลิตที่ดีมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา: https://www.dailynews.co.th/agriculture/607263