ปลูกตะไคร้ ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งออกปีละไม่ต่ำกว่า 50 ตัน

หากพูดถึงตะไคร้ แน่นอนว่าต้องนึกถึง ตะไคร้ ไร่ชมจันทร์ ซึ่งมีการปลูกตะไคร้ส่งบริษัทส่งออกมานานเกือบ 10 ปี คุณอุไรวรรณ แก้วปาน เจ้าของไร่ตะไคร้ชมจันทร์ อดีตพนักงานบริษัทที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ก้าวมาสู่อาชีพนี้ เธอเล่าว่า เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วญาติที่ทำนามานานจนสภาพดินเสื่อมโทรม ปลูกข้าวก็ไม่ได้ผลดีจึงยอมทิ้งที่ดินแปลงนี้ ด้วยความเสียดายจึงคิดว่าจะหาพืชอะไรมาปลูกดีบนสภาพดินที่เสียขนาดนี้ หลังจากศึกษาข้อมูลแล้วก็มาลงตัวที่ตะไคร้ เธอจึงพลิกที่นายกร่องมาเป็นสวนเพื่อปลูกตะไคร้ 5 ไร่ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะเอาไปขายที่ไหน ประมาณเดือนเศษก่อนตะไคร้จะได้ตัดเธอลองไปลงประกาศทางอินเตอร์เน็ตดู โชคเข้าข้างเธออย่างมากเพราะมีบริษัทส่งออกติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อตะไคร้นำไปบดเป็นผงเพื่อส่งออกไปประเทศแถบยุโรป ตอนนั้นเธอขายตะไคร้ในราคากิโลกรัมละ 6 บาท โดยขายยกทั้งกอเลย เธอเห็นเม็ดเงินจากตะไคร้พืชที่เธอแทบไม่ได้หวังผลตอบแทนมากมายนัก ปีต่อมาคุณอุไรวรรณขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 15 ไร่ ป้อนให้กับบริษัทเดิมด้วยความมั่นใจในตลาด และลองไปประกาศขายตะไคร้ในอินเตอร์เน็ตเหมือนเดิมเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย แล้วก็มีบริษัทส่งออกติดต่อเข้ามาซื้ออีก คราวนี้ซื้อต้นตะไคร้เพื่อป้อนให้กับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยบริษัทมีการประกันราคารับซื้อและขายได้ราคาสูงขึ้น คุณอุไรวรรณเริ่มมองเห็นโอกาสทางการตลาดของตะไคร้พืชที่หลายคนมองว่าธรรมดาเหมือนที่เธอเองก็เคยมองแบบนั้นเช่นกัน ปีที่ 3 หลังจากมั่นใจในตลาดคุณอุไรวรรณตัดสินลาออกจากงานพร้อมกับลุยตะไคร้เต็มตัว ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 20 ไร่ ปีต่อมานอกจากปลูกเองแล้วก็เริ่มประกาศหาลูกไร่เข้ามาร่วมโครงการกับเธอด้วย โดยจำกัดพื้นที่ในเขตสุพรรณบุรีเป็นหลักเนื่องจากใกล้บ้านและสะดวกในการดูแลและขนส่งตะไคร้ ในแต่ละปีคุณอุไรวรรณจะส่งผลผลิตตะไคร้ให้กับบริษัทส่งออก 2 แห่งนี้ประมาณ 40-50 ตัน โดยมีพื้นที่ปลูกของเธอเอง 25 ไร่ และพื้นที่ปลูกของลูกไร่อีก 40 ไร่ อยู่ในเขต อ.อู่ทองและศรีประจันต์ การปลูกตะไคร้ป้อนบริษัท  คุณอุไรวรรณจะไปรับออร์เดอร์มาก่อน จากนั้นก็จะวางแผนการปลูกเพื่อให้มีตะไคร้ป้อนตลาดในช่วงที่ต้องการ คุณอุไรวรรณบอกว่าตลาดต่างประเทศจะต้องการตะไคร้มากในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. และช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ตะไคร้ราคาสูง ปีที่แล้วเกิดปัญหาน้ำท่วมราคาตะไคร้พุ่งไปถึง 30 บาท/กก.เลยทีเดียว แต่โดยปกติแล้วราคาตะไคร้จะอยู่ที่ประมาณ 15 บาท/กก. สเปกของตะไคร้ส่งออกจะต้องเป็นตะไคร้ต้นใหญ่ สมบูรณ์ ขาว คอไม่ดำ ไม่มีร่องรอยของโรค-แมลงทำลาย ความยาวของต้น 13-14 นิ้ว ส่วนราคาตะไคร้ในประเทศทั่วไปจะอยู่ที่ 8-9 บาท/กก. ช่วงฝนตะไคร้จะราคาค่อนข้างถูก พอช่วงแล้งตะไคร้ก็จะมีราคาแพง 12-13 บาท/กก. ดังนั้นการปลูกตะไคร้ให้ได้ราคาดีก็ต้องวางแผนการปลูกให้ตะไคร้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงราคาแพง ตะไคร้ที่นิยมปลูกกันทั่วไป มี 3 สายพันธุ์ ตะไคร้ที่ชาวสวนนิยมปลูกป้อนตลาดในบ้านเราจะเป็นตะไคร้หยวกกับพันธุ์กาบแดง ซึ่งทั้ง 2 พันธุ์มีข้อดีคือปลูกได้ทั้งปี ต้นใหญ่ แต่อายุเก็บเกี่ยวนาน พันธุ์หยวกใช้เวลา 7 เดือน พันธุ์กาบแดงก็ 6-7 เดือน ผลผลิตประมาณ 2 ตัน/ไร่ ส่วนพันธุ์เกษตรที่คุณอุไรวรรณปลูกนั้นข้อดีคือ เก็บเกี่ยวได้เร็ว 4-5 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว น้ำหนักดี 3 ตัน/ไร่ แต่ข้อเสียก็คือช่วงฝนตะไคร้ลำต้นมักจะเป็นปล้องเหมือนปล้องอ้อย ขายไม่ได้ราคา ตลาดไม่ต้องการ วิธีการแก้ปัญหานี้ก็คือ ปลูกช่วงฝนเพื่อให้ตะไคร้ไปเก็บเกี่ยวช่วงแล้งซึ่งก็จะเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงและราคาดี ไร่ชมจันทร์นอกจากปลูกตะไคร้เพื่อป้อนตลาดแล้ว ยังจำหน่ายพันธุ์ตะไคร้ด้วย โดยจำหน่ายทั้ง 3 สายพันธุ์ ราคาแตกต่างกันไป พันธุ์เกษตรราคา 15 บาท/กก. พันธุ์หยวก 14 บาท/กก. พันธุ์เกษตร 15 บาท/กก. เป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี รับประกันตรงตามสายพันธุ์ โดยตะไคร้ที่นำมาทำพันธุ์นี้ก็จะเป็นตะไคร้อายุ 4-5 เดือนซึ่งเหมาะสมสำหรับการทำพันธุ์ โดยที่นี่จะมีแปลงผลิตต้นพันธุ์แยกจากแปลงที่ผลิตต้นขาย ซึ่งนอกจากขายต้นพันธุ์แล้วคุณอุไรวรรณยังให้คำแนะนำวิธีการปลูกรวมไปถึงแนะนำตลาดรับซื้อตะไคร้ให้ด้วย คุณอุไรวรรณบอกว่าตลาดตะไคร้นั้นกว้างมากเพียงแต่เกษตรกรไม่เคยรู้ ตลาดใหญ่ก็คือโรงงานผลิตพริกแกงต่างๆ โรงงานผลิตบะหมี่ซึ่งมีปริมาณการสั่งซื้อเยอะมาก คุณอุไรวรรณเคยไปติดต่อเหมือนกันแต่ไม่สามารถปลูกป้อนให้กับโรงงานได้เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ นอกจากนี้ตลาดที่บริโภคต้นสดรวมถึงตลาดแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพก็มีความต้องการสูงเช่นกัน สำหรับเทคนิคการปลูกแลดูแลตะไคร้ของไร่ชมจันทร์ คุณอุไรวรรณบอกว่า การปลูกตะไคร้ควรจะยกร่องปลูก ระยะปลูกที่เหมะสม ถ้าเป็นช่วงฝนควรปลูกห่างใช้ระยะ 70×70 ซม. เพราะช่วงฝนโอกาสเกิดความชื้นสูงและเกิดโรคได้ง่าย ต้องปลูกห่างเพื่อให้แปลงโปร่ง ระบายอากาศได้ดี ถ้าเป็นช่วงแล้งควรปลูกถี่เพื่อรักษาความชื้นในแปลง ช่วยประหยัดการให้น้ำ ควรใช้ระยะ 50×50 ซม. หรือ 60×60 ซม.พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 250 กก. ปลูกหลุมละ 3 ต้น เพราะต้องเผื่อต้นที่ตายไว้ด้วย หลังปลูก 1 เดือนเริ่มให้ปุ๋ย พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ 25-7-7 อัตรา 10 กก. ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 20 กก. เดือนที่ 2 ให้ปุ๋ยสูตรเดิมอัตราเดิม เดือนที่ 3 เปลี่ยนมาใช้สูตร 16-16-16 อัตรา 10 กก.ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 20 กก. ส่วนการให้น้ำจะมีทั้งแปลงที่ทำระบบร่องสวนซึ่งก็จะใช้เรือรดน้ำวิ่งเข้าไปในร่องน้ำเหมือนสวนยกร่องทั่วไป ส่วนแปลงพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ราบจะติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ ให้น้ำทุก 7 วัน ช่วงฝนไม่ต้องให้น้ำเพราะฝนตกอยู่แล้ว ส่วนสารเคมีไม่ได้ใช้เพราะปกติตะไคร้ก็มีศัตรูน้อยอยู่แล้ว ตะไคร้เป็นพืชที่ดูแลง่าย พื้นที่ปลูกตะไคร้ 25 ไร่ที่ปลูกไว้ก็ดูแลกันเองในครอบครัวประมาณ 4-5 คน แต่ช่วงวันที่ตัดตะไตรต้องจ้างแรงงานเพิ่ม อย่างตัดตะไคร้ 1 ตันต้องใช้ทั้งหมดประมาณ 10 คน เพื่อเข้าไปตัดในแปลง ตัดใบ ลอกกาบ ตกแต่งให้สวยงามก่อนบรรจุลงถุง ตะไคร้ยังคงเป็นพืชที่มีอนาคตทางการตลาดที่ดีและเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนที่ดี การดูแลก็ต่ำ คุณอุไรวรรณมองว่าตลาดตะไคร้มีแต่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆทั้งตลาดบริโภคสดและตลาดเพื่อสุขภาพ จึงเป็นพืชที่น่าจะปลูกเป็นอย่างยิ่ง ใครสนใจจะปลูกก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทั้งเรื่องการปลูก ตลาดและต้นพันธุ์ ไร่ชมจันทร์ 27/1 ม.5 ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โทร.081-0188542   Rakkaset Nungruethail  รักษ์เกษตร ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539829132&Ntype=8
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/knowledge/%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b9%89-%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%94/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save