‘น้ำเต้า’ พืชล้มลุกประเภทเถาเลื้อย
น้ำเต้าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งในตระกูลแตง ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความนิยม เท่าไหร่ในบ้านเรา ทั้งๆ ที่น้ำเต้าเป็นพืชที่รับประทานได้ทั้งผลและยอดอ่อน และยังใช้เป็นภาชนะใส่ของเหลวเช่นน้ำได้อีกด้วย
น้ำเต้าเป็นพืชล้มลุกประเภทเถาเลื้อยมีมือไว้ยึดเกาะเกี่ยว มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่แยกกันในต้นเดียวกัน ดอกของน้ำเต้าต่างจากพืชชนิดอื่นในตระกูลเดียวกันซึ่งมักจะมีสีเหลือง แต่ดอกน้ำเต้ากลับมีสีขาว จนได้ชื่อว่าฟักดอกขาว (White flower gourd)
เชื่อกันว่า น้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย นักโบราณคดีเชื่อว่า น้ำเต้า เป็นพืชชนิดแรกที่มนุษย์นำมาปลูกก่อนพืชชนิดใด ๆ ที่รู้จักกัน เพราะมีหลักฐานว่าพบเศษเปลือกแห้งของน้ำเต้าอยู่กับหลุมศพของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเมื่อนำไปตรวจหาอายุก็พบว่า น้ำเต้าชิ้นนั้นมีอายุอย่างน้อย 12,000 ปีมาแล้ว น้ำเต้ามีปลูกแพร่หลายทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว แม้ว่าจะชอบอากาศร้อนมากกว่า จึงนับได้ว่าน้ำเต้าเป็นพืชที่มีแหล่งปลูกกว้างขวางมากพืชหนึ่ง
แม้ว่าน้ำเต้าจะเป็นพืชประเภทผัก แต่มนุษย์นำน้ำเต้ามาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ มากกว่าใช้เป็นอาหารเสียอีก เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ของเหลว เช่นน้ำ หรือเหล้า ใช้แขวนทำเป็นรังนก และใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ชาวอินเดียแดงเผ่า จิวาโร (Jivaro) นำผลน้ำเต้าที่มีส่วนคอยาวกว่า 3 ฟุต มาประดิษฐ์เป็นขลุ่ย ชาวฮินดูในประเทศอินเดีย และชาวอินคาในทวีปอเมริกาใต้สมัยโบราณ ใช้น้ำเต้าแห้งชนิดผลกลมมาทำเครื่องดนตรีชนิดใช้สาย เช่น ซีต้าร์ (Sitar) นอกจากนั้นยังใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือนเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย
น้ำเต้าเป็นพืชที่มีขนาดและรูปทรงต่าง ๆ มากมายซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ มีทั้งผลกลม ยาวแป้น ทรงกระบอก เรียว ตรง บูดเบี้ยว คดงอ ซึ่งทำให้เกิดความงามไปอีกแบบหนึ่ง
ผลน้ำเต้าที่ใช้รับประทานได้ควรจะเป็นผลเมื่อยังอ่อนอยู่เพราะเมื่อผลแก่ จะมีเนื้อน้อยลง เปลือกหนาขึ้น รังเมล็ดจะมีมากขึ้นจนเนื้อแท้ ๆ แทบไม่มี และรสชาติเลวลงไม่อร่อยเหมือนเมื่อผลยังอ่อนอยู่
น้ำเต้าเป็นพืชที่ปลูกง่ายและขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย และไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงเพราะมีน้อยมาก
การปลูก
วิธีการปลูกน้ำเต้า และการปฏิบัติบำรุง ทำเช่นเดียวกับการปลูกฟักทอง ถ้าปลูกให้เลื้อยไปตามดินก็ได้ผลดี แต่ถ้าใช้พันธุ์ผลยาวปลูกควรทำค้างหรือร้านให้น้ำเต้าเลื้อยขึ้นจะได้ผลงาม น้ำเต้าสามารถทนแห้งแล้ง ทนแดด ทนน้ำได้ดีกว่าฟักทองเสียอีก