นักธุรกิจไต้หวันปลูกกล้วยคาเวชดิชที่สุพรรณบุรี “มั่นใจไทยนิยมไม่แพ้หอมทอง”

วงการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชไทยคึกคัก เมื่อนักธุรกิจเกษตรไต้หวัน หุ้นส่วนคนสำคัญบริษัทเพื่อนเกษตรกร(KNOWN-YOU SEED)ลงทุนปลูกที่สุพรรณบุรี เน้นทำตลาดในไทย แต่ก็ไม่ทิ้งส่งออก มั่นใจการปลูกและการบ่มที่ได้คุณภาพ ตรงตามต้นตำรับจะเป็นกล้วยที่ถูกปากถูกใจผู้บริโภคคนไทย…

คุณจาง ถัง ไท่ นักธุรกิจเกษตรชาวไต้หวัน ในฐานะกรรมการ บริษัท KNOWN-YOU SEED ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ที่ได้รับการยอมรับด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของโลก (บริษัทแห่งนี้ได้ขยายกิจการมาตั้งในประเทศไทยในนามบริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด) และเป็นผู้บริหารอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งในไต้หวันและจีน ได้เปิดเผยกับ “เกษตรก้าวไกล” ว่าบริษัทได้เริ่มปลูกกล้วยหอมในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2560 จากเดิมนั้นได้เข้ามาทำธุรกิจปลูกเห็ดเข็มทองที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในนามบริษัท เอเวอร์ ไทย แอกริโปรดักส์ จำกัด โดยปลูกมานาน 20 กว่าปี ได้ส่งเห็ดเข็มทองไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และถือเป็นรายใหญ่ 1 ใน 3 ที่ปลูกเห็ดชนิดนี้

กระทั่ง 2-3 ปีให้หลังมานี้ เห็ดเข็มทองถูกตีตลาดด้วยเห็ดเข็มทองจากประเทศจีน ทำให้ได้รับผลกระทบจึงมองหาพืชผลเกษตรตัวอื่นๆ สุดท้ายเปลี่ยนมาปลูกผลไม้ ซึ่งบริษัทแม่ที่ไต้หวันและจีนมีความถนัดอยู่แล้ว โดยลงทุนบนที่ดินทั้งหมด 200 ไร่ ที่ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งเป็นการปลูกมะละกอเรดเลดี้ 20 กว่าไร่ กล้วยหอมทอง 40 กว่าไร่ และกล้วยหอมคาเวนดิช 80 กว่าไร่

“เหตุผลที่ปลูกกล้วยหอมคาเวนดิช เพราะมองว่าตลาดต่างประเทศนิยมมาก อย่างเช่นที่ประเทศจีน ผลผลิตไม่พอเพียง และอีกหลายประเทศที่มีความต้องการสูง แต่ประสบปัญหาเรื่องภูมิอากาศที่ไม่อำนวยให้ปลูกทั้งปี”

คุณจาง ถัง ไท่ เล่าให้ฟังว่า บริษัทในเครือที่คุณพ่อของตนเองตั้งขึ้นนั้น ได้ดำเนินธุรกิจทางการเกษตรมานานหลายสิบปี เริ่มต้นจากการปลูกกล้วยคาเวนดิชที่ไต้หวันส่งไปขายที่ญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับนักธุรกิจเกษตรญี่ปุ่น ต่อมายังประสบความสำเร็จในการปลูกสับปะรดส่งขายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเรื่องสับปะรดเป็นอันดับ 1 ของไต้หวันในปัจจุบันนี้ และหลังจากนั้นได้ขยายการลงทุนไปประเทศจีน เริ่มจากการปลูกสับปะรดพันธุ์น้ำหอม เบอร์ 17 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คุณพ่อของตนได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้น (คุณพ่อของคุณจาง ถัง ไท่ เชี่ยวชาญด้านเกษตร จบการศึกษาระดับปริญญาเอก) จากเดิมที่คนจีนไม่นิยมบริโภคผลสด มักนิยมนำสับปะรดไปปรุงเป็นอาหาร แต่ต่อมาคนจีนนิยมบริโภคกันมาก จากที่ได้วางแผนผลิตเพื่อการส่งออก ก็กลับเป็นผลิตไม่พอขายในประเทศจีน เช่นเดียวกับการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิช จำนวน 200 กว่าไร่ ทางภาคใต้ของจีน ปรากฏว่าไม่พอเพียงต่อการจำหน่าย เนื่องจากตลาดจีนมีขนาดใหญ่และผลผลิตจะน้อยในบางช่วง อันเป็นผลมาจากภูมิอากาศนั่นเอง

“ปัญหาการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชในจีน คือโรคใบเหลือง หรือตายพราย และอีกปัญหาหนึ่งคือ ภูมิอากาศ เราต้องปลูกให้กล้วยเก็บผลผลิตได้ช่วงเดือน 4, 5, 6 ไม่อย่างนั้นแล้วกล้วยจะเกิดอาการสะท้านหนาว เกิดเส้นใยสีดำเวลาลอกเปลือกกล้วยออกมาจะเห็นชัด ซึ่งจะมีผลต่อรสชาติของกล้วย ทางแก้ตรงนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทำได้แล้ว คือการเพิ่มความหนาของชุดห่มกล้วย ซึ่งต้องใช้ถึง 4 ชั้น ถ้าเป็นเมืองไทยใช้แค่ 2 ชั้น จึงทำให้เกิดต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการลงทุนเท่าไร”

ในการลงทุนปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชที่สุพรรณบุรี ขณะนี้ได้เก็บผลผลิตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจะแบ่งการปลูกออกเป็นแปลงๆ เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่พร้อมกัน และได้ทดลองส่งไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์จากการจำหน่ายเห็ดเข็มทองมาก่อน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคคนไทยยังไม่คุ้นเคย ยังนิยมกันในวงแคบๆที่รู้จักกล้วยชนิดนี้

“การจำหน่ายกล้วยหอมคาเวนดิช เราตั้งเป้าหมายว่าจะเน้นตลาดในประเทศ แต่จากการทดลองตลาดมาได้ระยะหนึ่ง เราพบว่าคนไทยยังไม่คุ้นเคย (จึงต้องส่งออกส่วนหนึ่ง) แต่เมื่อเราถามถึงรสชาติ บางคนบอกว่าอร่อยกว่ากล้วยหอมทอง เราจึงมั่นใจว่าจากมาตรฐานการปลูกและคุณภาพในการบ่มกล้วยของเราจะทำให้ผู้บริโภคคนไทยหันมานิยมกล้วยชนิดนี้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราไปปลูกสับปะรดในประเทศจีน แรกๆก็ไม่ได้รับความนิยม แต่ผ่านไปไม่กี่ปีก็กลับนิยม และผลิตไม่พอขาย”

เทคนิคการบ่มกล้วยหอมคาเวนดิช คือวิธีการที่จะทำให้กล้วยผิวสวย ได้คุณภาพของความอร่อย ทางคุณจาง ถัง ไท่ บอกว่าต้องใช้วิธีการบ่มเย็นเท่านั้น จึงจะทำให้ผิวสีเหลืองสวยงาม ซึ่งที่สวนจะส่งมาบ่มที่โรงบ่มจังหวัดปทุมธานี โดยการดัดแปลงโรงเรือนเพาะเห็ดเข็มทอง ที่เป็นโรงเรือนปรับอากาศมาทำเป็นโรงบ่มกล้วย (ตามภาพ) ทำให้กล้วยที่ออกมาผิวเหลืองสวยงาม แม้ว่าวิธีการบ่มที่ดัดแปลงมาอาจยังไม่ 100 % แต่ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องการ

“เราทดลองนำกล้วยที่บ่มเย็นไปจำหน่ายตามตลาดนัดต่างๆ (นอกจากห้างสรรพสินค้า) และล่าสุดได้มาจำหน่ายที่งานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าลูกค้าตอบรับดีมาก เขาถามว่าเป็นกล้วยจริงหรือเปล่า เพราะผิวสวยกว่าที่เขาเคยเห็น และมีหลายคนที่กลับมาซื้อซ้ำบอกว่ากล้วยคาเวนดิชอร่อยมาก” คุณจาง ถัง ไท่ กล่าว

วิธีการบ่มกล้วยในรูปแบบบ่มเย็นนี้ ต้นตำรับคือประเทศญี่ปุ่น คุณจาง ถัง ไท่ บอกว่าสมัยก่อนที่กล้วยหอมจากไต้หวันส่งไปญี่ปุ่น มีกำหนดเลยว่าลังไหนที่เหลืองสุก(แม้ลูกเดียวก็ตาม)ระหว่างทางจะถูกตีกลับ เพราะญี่ปุ่นจะไปบ่มกล้วยในแบบวิธีของเขาเอง และตนก็มั่นใจในอนาคตว่าวิธีการบ่มกล้วยแบบนี้จะได้รับความนิยมในประเทศไทยเช่นกัน

ในอนาคต คุณจาง ถัง ไท่ บอกว่าจะขยายการลงทุนธุรกิจเกษตรในประเทศไทยออกไปอีก เนื่องจากคุ้นเคยกับเมืองไทยมาเป็นเวลานาน แม้ว่าตนเองจะต้องดูแลธุรกิจเกษตรในประเทศไต้หวันและจีน อาจไม่ค่อยมีเวลามาดูแล แต่ก็เดินทางมาเป็นระยะๆ ไม่เคยขาด เพราะมั่นใจว่าประเทศไทยมีภูมิประเทศที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลก

“บริษัทของเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อธุรกิจปลูกกล้วยคาเวนดิชในประเทศไทยยืนอยู่ได้สักระยะหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าสามารถขยายตลาดไปได้ดีพอสมควรแล้ว เราก็จะสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ที่เรามีให้กับเกษตรกรไทย…เรามีประสบการณ์ปลูกกล้วยหอมที่จีน เราก็จะนำคุณภาพนั้นมาประเทศไทย เราน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่า และเราก็มั่นใจว่าคนไทยจะได้บริโภคกล้วยหอมคาเวนดิชที่อร่อย มั่นใจว่ากล้วยชนิดนี้จะมีโอกาสเกิดในประเทศไทย” คุณจาง ถัง ไท่ กล่าวในที่สุด

ขอบคุณ : คุณเคอ ผู้ช่วยคุณจาง ถัง ไท่ ที่ช่วยเป็นล่าม และคุณหนิง ฝ่ายการตลาด ที่ช่วยประสานงานจนสำเร็จด้วยดี

ที่มา: https://www.kasetkaoklai.com/home/2018/02/คาเวชดิชที่สุพรรณบุรี/

[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/knowledge/%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b9%84%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%a5/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save