ดินทราย ดินแน่น….เรื่องใกล้ตัว

ถ้ามองดินกับการปลูกพืช เรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับแรกๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการให้ปุ๋ย กับการให้น้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้งองค์ความรู้ทางปฐพีวิทยายังมีอีกมากมาย เช่น สมบัติทางกายภาพของดินอันเป็นพื้นฐานหลักของตัวดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อดิน โครงสร้างดิน และอื่น ๆ ซึ่งการรู้จักสมบัติของดินด้านกายภาพเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้ดีมากยิ่งขึ้น มารู้จักเนื้อดินและโครงสร้างดินกันก่อน                 เนื้อดิน เป็นสมบัติทางกายภาพที่แสดงถึงความหยาบและความละเอียดของดิน เนื้อดินเป็นผลรวมของอนุภาคเดี่ยวของดินทั้ง 3 กลุ่ม ในสัดส่วนต่าง ๆ ได้แก่ อนุภาคทราย (sand) อนุภาคทรายแป้ง (silt) และอนุภาคดินเหนียว (clay) ซึ่งแต่ละอนุภาคแยกออกจากกันด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคนั้นเอง ตามนี้
ประเภทอนุภาคเดี่ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)
อนุภาคทราย 0.02-2.00
อนุภาคทรายแป้ง 0.002-0.02
อนุภาคดินเหนียว <0.002
  เนื้อดินแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มดินเนื้อหยาบ กลุ่มดินเนื้อปานกลาง กลุ่มดินเนื้อละเอียด ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างกัน เช่น กลุ่มดินเนื้อละเอียด มีอนุภาคดินเหนียวเป็นส่วนมาก ซึ่งมีขนาดเล็กทำให้สามารถจับตัวกันเป็นก้อนได้ดีจนถึงดีมากเกินไป มีธาตุอาหารในดินมาก ส่วนใหญ่อุ้มน้ำดี แต่ระบายน้ำไม่ดี ดังนั้น ถ้าจะใช้ดินเนื้อละเอียดปลูกพืชก็ควรเลือกชนิดของพืชที่ชอบน้ำมาก ๆ เช่น นาข้าว นาบัว เป็นต้น หรือถ้าจะใช้ดินเนื้อละเอียดปลูกพืชไร่ ก็จำเป็นต้องมีการจัดการเรื่องของการระบายน้ำให้เหมาะสมจึงจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โครงสร้างดิน เป็นสมบัติทางกายภาพที่อธิบายถึงการจัดเรียงตัวของอนุภาคเดี่ยวจนกลายเป็นเม็ดดิน (aggregate) ดินที่มีโครงสร้างถือว่าเป็นดินดี เนื่องจากการจัดเรียงตัวที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดช่องขนาดต่าง ๆ ภายในดินนั้น ซึ่งช่องแต่ละขนาดก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ช่องที่มีขนาดใหญ่ (เส้นผ่าศูนย์กลาง > 50 ไมครอน) มีหน้าที่ระบายน้ำ ช่องขนาดปานกลาง (เส้นผ่านศูนย์กลาง = 0.2 – 50 ไมครอน) มีหน้าที่เก็บน้ำและพืชสามารถดูดไปใช้ และช่องขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางช่อง < 0.2 ไมครอน) มีหน้าที่เก็บน้ำแต่พืชไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกลุ่มดินเนื้อหยาบจะมีช่องขนาดใหญ่อยู่มาก ในขณะที่กลุ่มดินเนื้อละเอียดจะมีช่องขนาดเล็กอยู่มาก โครงสร้างดินที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อการจัดเรียงตัวของอนุภาคเดี่ยวนั้นมีสารเชื่อมระหว่างอนุภาคดิน เพื่อช่วยให้โครงสร้างดินที่เกิดขึ้นมีความคงทนต่อการกระแทกของฝน หรือการให้น้ำ ซึ่งสารเชื่อมที่หาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากคือ อินทรียวัตถุ นั่นเอง เนื้อดินและโครงสร้างดินเป็นสมบัติทางกายภาพเบื้องต้นที่สังเกตเองจะช่วยให้เลือกแนวทางการจัดการดิน การปรับปรุงดินให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น แต่ในบางพื้นที่สมบัติเหล่านี้ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิตพืชก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาทางด้านกายภาพที่ใกล้ตัวมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ได้แก่ ดินทราย และดินแน่น ดินทราย เป็นดินเนื้อหยาบ มักจะเป็นดินที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีสารเชื่อมระหว่างอนุภาคดิน ช่องในดินเป็นช่องขนาดใหญ่ จึงสามารถระบายน้ำได้ดี อุ้มน้ำได้น้อย มีธาตุอาหารต่ำ และถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย แนวทางการปลูกพืชในดินทราย.. เราสามารถเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพเนื้อดิน ได้แก่ พืชที่ต้องการน้ำน้อย ซึ่งจะทำให้การดูแลไม่ยุ่งยากและลดต้นทุนได้ สำหรับแนวทางการปรับปรุงดินทราย สามารถทำได้โดยจัดการการให้ปุ๋ยและการให้น้ำอย่างเหมาะสม นั่นคือให้ปุ๋ยเคมีตามที่พืชต้องการเพื่อให้พืชสามารถใช้งานธาตุอาหารได้ทันที และให้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร รวมทั้งเลือกวิธีการให้น้ำที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำแบบพ่นฝอย (prinkler irrigation) หรือการให้น้ำแบบหยด (drip irrigation) ส่วนการให้น้ำแบบทดท่วม (flooding irrigation) ไม่เหมาะสมกับดินทรายเพราะดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ดังนั้นการให้น้ำแบบทดทวมจะเป็นการเปิดน้ำทิ้งผ่านดิน โดยไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ดินแน่น ในที่นี้รวมความถึงดินแน่น (soil compaction) หมายถึง ดินในเขตรากพืชที่มีความหนาแน่นรวม มากกว่า 1.3 g/cm3 ทำให้มีผลกระทบถึงการชอนไชของรากพืชและ ดินดาน (hard pan) หมายถึง ดินที่พบชั้นแข็งอยู่ภายในหน้าตัดดิน ทำให้รากพืชชอนไชได้ยาก อีกทั้งยังลดความเป็นประโยชน์ของน้ำใต้ดินอีกด้วย และการมีแผ่นแข็งปิดที่ผิวดิน (soil crust) หมายถึง ดินที่มีแผ่นแข็งปิดอยู่บนผิวดิน มักจะมีความหนาประมาณ 1-10 mm ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการงอกของเมล็ด และยังมีผลกระทบต่อการถ่ายเทอากาศของดิน ปัญหาเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1) ดินมีอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้ไม่มีสารเชื่อมอนุภาคดิน ดินจึงไม่มีโครงสร้างจนแน่นทึบในที่สุด 2) ดินโซดิก เป็นดินเกลือประเภทหนึ่งซึ่งมีประจุโซเดียมปริมาณมาก (Na+) จนขัดขวางการเกิดโครงสร้างดิน ทำให้ดินแน่นทึบ แนวทางการปลูกพืชในดินแน่น.. ถ้าพบว่าดินแน่นไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือการไถพรวน หรือ การไถระเบิดดินดาน แต่การจัดการที่ยั่งยืนที่สุดนั้น คือการทำให้ดินมีโครงสร้างที่ดีและคงทน ด้วยการเติมอินทรียวัตถุให้ดินอย่างสม่ำเสมอ การไถพรวนที่ถูกวิธี การปลูกพืชที่มีระบบรากที่ช่วยป้องกันการเกิดดินแน่น ช่วยในการยึดเกาะของเม็ดดินได้ดี เช่น หญ้าแฝก ซึ่งการจัดการเหล่านี้จะเป็นการป้องกันการเกิดดินแน่นและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เกิดดินแน่นได้เป็นอย่างดี แหล่งที่มา: เกษตรอภิรมย์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 หน้า 29-30
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/knowledge/%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%99/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save