มะเขือพวงไร้หนาม

ถ้าแกงเขียวหวานหม้อนี้ไม่ได้ใส่มะเขือพวง ถ้าน้ำพริกกะปิครกนี้ไม่มีมะเขือพวง รวมทั้งอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ต้องมีมะเขือพวงเป็นเอกลักษณะเฉพาะ รสชาติ ความเป็นเอกลักษณ์คงหมดไปอย่างแน่นอน คนไทยกับมะเขือพวงเคียงคู่รู้จักกันมานานจนอาจเปรียบได้ว่าเป็นเพื่อนสนิททีเดียว มะเขือพวงนอกจากจะเป็นพืชอาหารดังกล่าวแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจอีกด้วย อาทิเช่น การรับประทานผลของมะเขือพวงจะมีผลทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีแก้ไอ  ขับเสมหะ ส่วนของรากนำมาจำแล้วพอกรักษาอาการส้นเท้าแตก น้ำสกัดจากต้นใช้แก้พิษงู และแมลงสัตว์กัดต่อย เมล็ดนำไปเผาสูดเอาควันรมแก้ปวดฟัน ใบสดใช้ห้ามเลือด พวกให้ฝีหนอกแตกเร็วขึ้น ผลต้มน้ำกินแก้ไอในเด็ก การใช้ประโยชน์ในประเทศไทยยังคงใช้เป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่ และนอกจากนั้นปัจจุบันนิยมนำมาใช้เป็นต้นตอสำหรับเปลี่ยนยอดให้กับพืชอื่น เช่น มะเขือเทศ มะเขือม่วง เพื่อเป็นการป้องกันโรคทางดินบางชนิด เช่นโรคเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย

ถ้ามองดูโดยผิวเผินอาจจะมองเห็นว่ามะเขือพวงเป็นพืชหัวไร่ปลายนา มิได้มีความสำคัญมากนัก ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ การรวบรวมพื้นที่ปลูก ผลผลิต ราคา รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ นับว่าน้อยมาก แต่ถ้ามองไปถึงความต้องการในแง่ของการบริโภคคุณค่าทางโภชนาการและสมุนไพร นับได้ว่าพืชชนิดนี้มีศักยภาพไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉันทนา วิชรัตน์ สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะเขือพวง จนได้มะเขือพวงพันธุ์ใหม่ คือ “แม่โจ้นิรมิต 1” (ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการรับรองพันธุ์) มะเขือพวงพันธุ์แม่โจ้นิรมิต 1 มีสายพันธุ์ดั้งเดิมได้มาจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในปี 2537 ได้มีการนำมาปลูกที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีความแตกต่างจากมะเขือพวงของภาคเหนื โดยมะเขือพวงของภาคเหนือจะมีหนาม ซึ่งจำนวนและลักษณะของหนามจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ส่วนมะเขือพวงจากอำเภอดำเนินสะดวกนั้นจะมีลักษณะเด่นที่ไม่มีหนาม การนำมาปลูกในครั้งแรกพบว่า ลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากพันธุ์เดิม โดยมีขนาดทรงพุ่มกว้าง ต้นสูง การแตกกิ่งแขนงมากกว่า ซึ่งอาจจะเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน นอกจากนั้นยังมีอายุยืนนานสามารถทำการคัดแต่งกิ่ง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้นเริ่มทรุดโทรมได้ถึง 2 รอบ จึงได้นำมาพัฒนาสายพันธุ์ โดยการคัดเลือกต้นที่มีลักษณะโดดเด่นด้านความแข็งแรงของระบบราก ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในครั้งนั้นเพื่อที่จะใช้เป็นต้นตอของพืชตระกูลมะเขือ ได้แก่ มะเขือเทศ และมะเขือม่วง ซึ่งมีปัญหาด้านความไม่ต้านทานโรคทางดินเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามขณะที่ทำการคัดเลือกเพื่อวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวพบว่ามะเขือพวงที่ได้ทำการคัดเลือกไว้บางต้นมีลักษณะในการผลิตสดได้ดี คือ ผลดก ติดผลเร็ว รสชาติดี ประกอบกับการที่เป็นมะเขือพวงที่ไม่มีหนามทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย อีกทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จึงได้ทำการคัดเลือกโดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบหมู่ (Mass selection) จนได้พันธุ์มะเขือพวงที่มีลักษณะเด่น คือ ไม่มีหนาม ผลดก รสชาติดี เป็นพันธุ์ที่มีต้นแข็งแรง ต้านทางโรคทางดินได้ดี และได้ทำการตั้งชื่อพันธุ์ว่า “แม่โจ้นิรมิต 1” เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับ ดร.นิรมิต กิจรุ่งเรือง อาจารย์ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชผัก ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ผู้ล่วงลับ

ลักษณะประจำพันธุ์

– ไม่มีหนาม

  ให้ผลดก และติดผลเร็ว

  มีรสชาติดี

  มีลำต้นแข็งแรง และต้านทานโรคทางดินดี

  มีกิ่งแขนงมาก และมีทรงพุ่มกว้าง

  อายุต้นกล้าประมาณ 1 เดือน

  อายุการเก็บเกี่ยว 80-90 วันหลังย้ายปลูก

  ผลผลิตสูง สามารถปลูกได้ตลอดปี

  อายุยาวนาน 2 – 3 ปี

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา

มะเขือพวงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด อีกทั้งเป็นพืชผักที่มีอายุยาวนาน นิยมปลูกเป็นพืชผักสวนครัว และปลูกเชิงการค้า

การเตรียมดิน

โดยการไถตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ขึ้นแปลงขนาดกว้างประมาณ 1.20 เมตร ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 – 2 ต้น / ไร่

การเพาะกล้า

นำเมล็ดไปแช่น้ำ แล้วห่อด้วยผ้าหมาด ๆ ทิ้งไว้ 1 – 2 วัน หรืออาจจะแช่น้ำอุ่นประมาณ 40 – 50  องศาเซลเซียส (อุ่นพอที่จะแช่มือลงไปได้) นานประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาห่อผ้าหมาด จะเป็นการเร่งความงอกได้ดีขึ้น นำเมล็ดลงเพาะในแปลงเพาะหรือกระบะเพาะ หมั่นรดน้ำดูแลจนอายุได้ประมาณ 1 เดือน สามารถนำไปปลูกได้

การใส่ปุ๋ย

หลังปลูกประมาณ 2 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยยูเรีย โดยการผสมน้ำรด และทุก ๆ 20 – 30 วัน จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม / ไร่ / ครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาการใส่ปุ๋ยควรพิจารณาจากต้น และลักษณะการเจริญเติบโตของพืชเป็นหลัก

การเก็บเกี่ยว

มะเขือพวงพันธุ์แม่โจ้นิรมิต 1 สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 80 – 90 วัน หลังย้ายปลูก และทยอยเก็บเกี่ยวได้เรื่อย ๆ เมื่อต้นอายุมากขึ้นเริ่มทรุดโทรม สามารถทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้มีการแตกกิ่งก้านและให้ผลผลิตใหม่ได้อีก

อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่

ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30 กรัม ต่อไร่

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉันทนา วิชรัตน์ สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873380 ในวันและเวลาราชการ

การปลูก

ปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.5 เมตร ระยะระหว่างแถว ประมาณ 2 เมตร

ที่มา: http://research.rae.mju.ac.th/raebase/index.php/knowledge/2010/103-eggplant

[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/knowledge/15812/" width="375" count="off" num="3" title="แสดงความคิดเห็น" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save