Auto Draft

เกษตรกรเมืองโอ่งเพาะเห็ดหูหนูขาย สร้างรายได้กว่าหมื่นบาทต่อวัน

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

จังหวัดราชบุรี นอกจากจะเป็นแหล่งขึ้นชื่อในการผลิตโอ่งแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเกษตรกรที่สำคัญอีกด้วย มีการทำเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการเลี้ยงวัวนม การทำสวนผักและผลไม้ต่างๆ ส่งขายกันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะเห็ดแหล่งใหญ่อีกด้วยโดยเฉพาะในเขต อ.โพธารามนั้นมีการเพาะเห็ดกันเป็นจำนวนมาก เพาะเห็ดกันแบบทุกชนิด ทั้งเห็ดนางฟ้า ภูฐาน นางรม เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดโคนญี่ปุ่น ซึ่งเราจะทยอยนำฟาร์มเห็ดแต่ละแห่งมานำเสนอกัน ฉบับนี้มาดูการเพาะเห็ดหูหนูกันก่อน ฟาร์มเห็ดหูหนูแห่งนี้นอกจากจะเป็นฟาร์มเปิดดอกแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะก้อนเชื้อแหล่งใหญ่อีกด้วย เพราะด้วยความที่เป็นแหล่งเพาะเห็ดแหล่งใหญ่จึงทำให้เกษตรกรที่นี่มีการทำก้อนเชื้อจำหน่ายในพื้นที่รวมทั้งจำหน่ายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศที่มีการเพาะเห็ดด้วย เรียกว่า โพธารามเป็นแหล่งจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดรวมถึงอุปกรณ์เห็ดต่างๆ แหล่งใหญ่ที่ส่งป้อนให้กับฟาร์มเห็ดทั่วประเทศเลยทีเดียว

ฟาร์มเห็ดวิราภา โดย คุณวิราภา ประทุมแก้ว หรือ คุณเพลิน นับเป็นฟาร์มเห็ดฟาร์มใหญ่อีกฟาร์มหนึ่งที่มีการเพาะเห็ดหูหนูเพื่อจำหน่ายดอกเห็ดสดและการทำก้อนเชื้อเห็ดส่งขายให้กับลูกค้า ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างอาชีพมั่นคงได้เป้นอย่างดี เพราะทำมาแล้วเป็นเวลานานถึง 18 ปีแล้ว คุณเพลินเล่าว่า ที่ อ.โพธารามนั้นเพาะเห็ดกันเยอะ หลักๆ แล้วจะเป็นนางฟ้า เพราะทำกันง่ายมีตลาดรองรับกว้างขณะที่เห็ดชนิดอื่นก็มีการเพาะกันประปรายแล้วแต่ความถนัดและมุมมองความได้เปรียบของที่นี่ก็คือ เกษตรกรเป็นมืออาชีพเพราะยึดอาชีพเพาะเห็ดกันมานาน ในเรื่องของตลาดก็ไม่ต้องกังวลเพราะตลาดรองรับมีทั้งตลาดไท สี่มุมเมืองและตลาดศรีเมือง ที่ฟาร์มเลือกเพาะเห็ดหูหนูเพราะเป็นเห็ดที่เพาะได้ง่าย ไม่ต้องเก็บดอกทุกวันเหมือนเห็ดอื่น เห็ดหูหนูจะเก็บดอกทุก 7 วัน หรือสัปดาห์ละครั้ง ในด้านของราคาก็ไม่ค่อยผันผวนเหมือนเห็ดนางฟ้า นางรม

คุณเพลินเล่าว่า เดิมทีนั้นจะเพาะเห็ดนางฟ้าเป็นหลักเดิมทีก็ทำควบคู่กันไปกับการทำก้อนเชื้อ แต่ด้วยความที่เห็ดนางฟ้าต้องเก็บดอกทุกวัน จึงไม่มีเวลาในการทำก้อนเห็ดขาย จึงเปลี่ยนมาเพาะเห็ดหูหนูเพราะจะเก็บดอกอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น ที่นี่จะมีโรงเพาะเห็ดหูหนูประมาณ 15 โรงเรือน ขนาดโรงเรือน 3×6 เมตร บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้ 3,000 ก้อนต่อโรงเรือน การเปิดดอกเห็ดหูหนูเริ่มจากการนำก้อนเชื้อที่บ่มก้อนเชื้อแล้ว 35 วัน จนเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนเข้าไปในโรงเรือนจากนั้นกรีดก้อนเชื้อโดยที่ 1 ก้อนเชื้อจะกรีดให้ได้ 14 แผล โดยที่กรีดรอบๆก้อน 12 แผล และกรีดใต้ก้อนอีก 2 แผล การกรีดก็อย่าให้ลึกจนเกินไป แล้วนำมาผูกติดกันโดยใช้เชือกฟางมัดแล้วแขวนต่อกัน แถวละประมาณ 8 ก้อน จากนั้นรดน้ำที่พื้นโรงเรือน ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน โดยน้ำฉีดไปที่ก้อนเชื้อเบาๆทุกวันๆ ละประมาณ 5-6 ครั้งในช่วงหน้าร้อน ถ้าเป็นหน้าฝน 1-2 ครั้ง เฉลี่ยแล้วประมาณ 4 ครั้งต่อวันโชยน้ำทุกวันจนเห็ดเริ่มเก็บดอกได้ โดยระยะเวลาตั้งแต่กรีดไปจนเก็บดอกได้ประมาณ 20 วัน

คุณเพลินบอกว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเพาะเห็ดหูหนูอยู่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนมากดอกจะไม่โต ซึ่งในระหว่างที่เก็บดอกจะต้องปรับอุณหภูมิให้ได้ โดยรดน้ำที่พื้นมรทุกวันในระหว่าง 2 เดือนเก็บดอก ถ้าไม่รดน้ำแล้วจะทำให้ดอกเหลืองและแห้งในที่สุด ศัตรูของเห็ดก็จะมี ไรไข่ปลาซึ่งก็จะมาพร้อมกับอากาศที่ร้อน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา เนื่องจากสภาพโรงเรือนของเกษตรกรไม่สะอาดเท่าที่ควรก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรคและสภาพโรงเรือนที่เก่าด้วยถ้าโรงเรือนใหม่จะไม่เจอปัญหาเหล่านี้

ระยะเวลาตั้งแต่กรีดไปจนเก็บดอกเห็ดได้ประมาณ 20 วัน การให้ผลผลิตเก็บตั้งแต่ครั้งแรกไปจนหมดประมาณ 8 งวด หรือประมาณ 2 เดือน เก็บอาทิตย์ละครั้ง ประมาณก้อน 3,000 ก้อน จะได้ดอกเห็ดสด 500 กก. ในครั้งแรก ครั้งต่อมาจะได้ประมาณ 100 กก. ปริมาณผลผลิตก็จะลดลงเรื่อยๆ จนเก็บหมด โดยที่ทางฟาร์มจะทยอยเก็บก้อนเชื้อเข้าโรงเรือนที่จะเปิดดอกอาทิตย์ละครั้ง ช่วงนี้จะมีก้อนเห็ดเก่าได้วันหนึ่งได้แค่ 200-300 กก. ภายใน 15 โรงเรือนเก็บได้ไม่หมดทุกโรงเรือน ซึ่งก็จะมีเริ่มแขวนบ้าง เริ่มกรีดบ้าง ดอกเก่าดอกใหม่บ้างแต่ละโรงก็จะมีกิจกรรมไม่เหมือนกัน

                สำหรับราคาขายดอกนี้ราคาดอกเห็ดใหม่ราคา 34 บาท/กก. ดอกเก่า ราคา 32 บาท/กก. ราคาเห็ดขึ้นๆลงๆ เหมือนผักทั่วไป แต่เห็ดหูหนูราคาจะไม่แกว่งมาก เฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณราคา 30 บาท/กก. แพงที่สุด 40-50 บาท/กก. ถูกสุด 17-18 บาท/กก. ถ้าเห็ดเยอะก็จะราคาถูกซึ่งก็ไม่สามารถประเมินได้เลย เพราะว่ามีคนสนใจทำกันเยอะ คู่แข่งแถวเพชรบุรีก็ทำกันเยอะ แถว อ.บางสะพาน อ.ท่ายาง ก็เพาะกันเยอะเวลาเห็ดทางโน้นมาทางนี้ก็ตาย แต่ก็จะตายอยู่ 2-3 วันแล้วราคาก็ขึ้น สำหรับราคา 10กว่าบาทก็เสมอตัว ถ้า 20 กว่าบาทข้นได้กำไรแต่ไม่เยอะถ้า 40-50 บาท หลังหนึ่ง 3,000 ก้อน กำไร 20,000-30,000 บาทต่อโรงเรือน ต้นทุนในการเพาะเห็ดจะมีแต่ค่าก้อนที่เป็นต้นทุนหลักเท่านั้น

นอกจากผลิตดอกเห็ดสดแล้วที่ฟาร์มยังทำก้อนเชื้อเห็ดขายด้วย มีก้อนเชื้อเห็ดชนิดต่างๆ ขายทั้งเห็ดหูหนู นางฟ้า เป๋าฮื้อ ภูฐาน นานๆจะมีโคนญี่ปุ่นมาให้ผลิตให้สักครั้งที่นี่จะผลิตก้อนเชื้อเห็ดวันหนึ่งประมาณ 10,000 ก้อน คุณเพลินบอกว่า การทำก้อนเชื้อเห็ดมีส่วนผสมที่ไม่ต่างกันหลักๆ แล้วก็จะมีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่นการทำเห็ดนางฟ้า เป๋าฮื้อ ภูฐาน ก็จะมีขี้เลื่อย 300 กก. รำ 8 กก. ดีเกลือ ภูไมต์ ปูนขาว อย่างละ 3 ขีด และก็อาหารเสริมเห็ด 2 กก. เพื่อทำให้เห็ดออกดอก เมื่อนำวัสดุบรรจุในถุงแล้ว ก็นำก้อนเชื้อเห็ดไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่นี่มีเตานึ่ง 4 เตา นึ่งได้เตาละ 6,500 ก้อน ซึ่งการนึ่งแต่ละครั้งจะใช้เวลาช้าเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด ถ้าเป็นนางฟ้า ภูฐาน นาน 4 ชม. ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อจะนานหน่อย 6 ชม. นึ่งเสร็จแล้วทิ้งให้เย็นแล้วนำมาเขี่ยเชื้อเห็ดใส่ลงไปในก้อนเชื้อปิดจุกแล้วนำไปบ่มเพื่อให้เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อน เป๋าฮื้อใช้เวลาบ่ม 45 วัน นางฟ้า ภูฐานใช้เวลา 25-30 วัน ส่วนหูหนู 35 วัน ราคาก้อนเชื้อส่วนใหญ่จะขายก้อนที่ยังไม่ได้บ่ม ลูกค้าจะนำไปบ่มแล้วราคาก้อนเชื้อเห็ดที่ยังไม่ได้บ่มราคาก้อนละ 4 บาท ทุกชนิด ยกเว้นโคนญี่ปุ่น ขาย 7 บาทหรือลูกค้าจะให้บ่มให้ก็ได้ ราคาก้อนเชื้อที่บ่มแล้ว เป๋าฮื้อราคา 5.50 บาท ส่วนนางฟ้า ภูฐาน ก้อนละ 5 บาท โดยต้นทุนการผลิตก้อนเชื้อเห็ดทุกชนิดจะอยู่ที่ 3.20-3.80 บาท

การเพาะเห็ดและการจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ด แม้จะมีคู่แข่งอยู่รอบด้าน แต่ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้และความมั่นคงทางด้านอาชีพให้กับคุณวิราภาเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาที่นำมาก็ขยายกันมาเรื่อย ปัจจุบันผลิตก้อนเชื้อวันละ 10,000 ก้อน สร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจเป้นอย่างยิ่ง คุณวิราภายังฝากถึงเกษตรกรรายใหม่ ถ้าสนใจที่จะเพาะเห็ดจะต้องศึกษาให้ดีก่อน และควรทำให้ปริมาณที่น้อยไปหามากช่วยลดความเสี่ยง และต้องเอาใจใส่ให้ดีจึงจะประสบความสำเร็จได้

ที่มา: http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539864107&Ntype=8

[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/en/knowledge/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%ab/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save