ออเดอร์หมื่นต้น! เพาะสตรอเบอร์รี่ขาย ทำเงินเดือนละแสน
12Apr,17
ชาวสวนยางนครพนม วัย 48 ปี แบกรับภาระหลังราคาตกต่ำนาน 2 ปี ไม่ไหวผันตัวปลูกสตรอเบอร์รี่ในภาคอีสาน เพาะพันธุ์ใส่กระถางขาย สร้างรายได้เดือนละแสน ออเดอร์นับหมื่นต้น ด้าน อบต.พิมาน เตรียมผลักดันเป็นศูนย์เรียนรู้-ท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพิศ ชูสังฆ์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 127 หมู่ 6 บ้านดอนพัฒนา ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาราคาตกต่ำมานานเกือบ 2 ปี โดยต้องแบกภาระต้นทุนและหนี้สิน กระทั่งเกิดแนวคิดจากการไปศึกษาดูงาน หันมาทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่ เพื่อหาทางสร้างรายได้ชดเชย เพราะมองว่าเป็นผลไม้ที่หายากในภาคอีสาน และมีราคาแพง
เริ่มทดลองปลูกมาตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน โดยสามารถดูแล บำรุงรักษา รวมถึงการขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี เก็บผลผลิตออกจำหน่ายได้ และสามารถเรียนรู้วิธีการดูแล บำรุงรักษา รวมถึงการขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้มีเกษตรกรมาสั่งซื้อต้นสตรอเบอร์รี่ที่บรรจุลงในกระถางจำนวนมาก จนขยายพันธุ์ไม่ทัน โดยส่วนใหญ่จะเน้นขายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 1-2 เดือน ก็สามารถขายได้ ราคากระถางละ 120-150 บาท ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีรายได้เดือนละนับแสนบาท นายสมพิศ เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รี่ กล่าวว่า เดิมมีอาชีพทำสวนยางพารา มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ปลูกมาประมาณ 10 ปี แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำเกือบ 2 ปี จึงหันมาศึกษาปลูกสตรอเบอร์รี่ ส่วนระยะเวลาในการปลูกจนถึงเก็บผลผลิตจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลและสภาพอากาศ ซึ่งสตรอเบอร์รี่จะออกผลปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่จะปลูกพันธุ์พระราชทาน 80 ที่นำมาจากทางภาคเหนือ
ปัจจุบันมีออเดอร์ประมาณ 10,000 ต้น ในอนาคตจะมีการพัฒนาทำแปลงดินปลูกนอกเหนือจากการลงกระถาง เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจมาศึกษาเยี่ยมชม และนำไปทดลองปลูกได้ เชื่อว่าทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทาง เพราะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-350 บาท โดยใครสนใจยินดีที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 08-8533-5337
ด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ได้มีการพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือ วางแผนจัดสรรงบประมาณส่งเสริมสนับสนุน นำไปขยายเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงหาแนวทางมาพัฒนาต่อยอด ปรับพื้นที่ปลูกทำสวนแทนการเพาะปลูกในกระถาง เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ จะวางแผนยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการปลูกสตรอเบอร์รี่ด้วย และพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ประชาชนในพื้นที่ทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.
แหล่งที่มา: