เทคนิคการผลิตมะม่วงนอกฤดู ที่วังทับไทร แหล่งปลูกมะม่วงบนดินลูกรัง ไม่มีแหล่งน้ำ แต่พลิกชีวิตชาวไร่…สู่เศรษฐีหลักสิบล้านทั้งหมู่บ้าน

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

หากมีโอกาสมาเยือน อ.วังทับไทร คุณจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมที่นี่จึงเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ เพราะตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยล้งรับซื้อมะม่วงทั้งรายเล็ก รายใหญ่เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางเพื่อรับซื้อผลผลิตมะม่วงของชาวสวน ซึ่งไม่เพียงในพื้นที่วังทับไทรเท่านั้น ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมการซื้อขายมะม่วงจากพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย โดยเฉพาะพิษณุโลก เพชรบุรณ์ พิจิตรซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่เช่นกัน แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จะนำมาขายที่นี่ และเมื่อเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน บ้านหลังใหญ่ๆ แทบทุกหลังราคาหลักล้านทั้งนั้น คงไม่ต้องบอกว่าชาวบ้านเหล่านี้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขนาดไหน จนทำให้แทบจะนึกภาพในอดีตของที่นี่ไม่ออกเลยว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว(ไม่นานเลย) ชาวบ้านที่นี่จะมีอาชีพปลูกพืชไร่ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างจากชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ เพราะด้วยสภาพพื้นที่ของดินลูกรัง แห้งแล้ง ไม่มีระบบชลประทานพืชไร่คือทางเลือกที่ดี แต่วันนี้วังทับไทรกลายเป็นแหล่งปลูกมะม่วงใหญ่สุดของภาคเหนือและเป็นศูนย์กลางการซื้อขายมะม่วงทั้งส่งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มะม่วงวังทับไทร พื้นที่หมื่นกว่าไร่  70% ส่งออกตลาดต่างประเทศ นายสายัณห์ บุญยิ่ง แกนนำของกลุ่ม บอกว่า มะม่วงเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพื้นที่วังทับไทร เนื่องจากมะม่วงเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สามารถเติบโตได้ในดินลูกรัง ระบบการปลูกมะม่วงที่นี่จะไม่มีระบบน้ำ การปลูกจะมีการให้น้ำเพียงช่วง 2-3 ปีแรกเท่านั้น โดยชาวบ้านจะนิยมปลูกช่วงฝนและให้น้ำช่วงแล้งประมาณเดือน ธ.ค.-มี.ค. พอเดือน เม.ย.ที่นี่ก็เริ่มจะมีฝนแล้ว หลังจากนั้นมะม่วงก็จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้วโดยไม่ต้องพึ่งระบบน้ำ พื้นที่ปลูกมะม่วงของชาวสวนส่วนใหญ่ (60-70%) อยู่ที่ 20-50 ไร่ ชาวสวนรายใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกระดับ 100 ไร่ ขึ้นไปมีอยู่ประมาณ 5-10% สำหรับสมาชิกของกลุ่มจะมีประมาณ 80 คน โดยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงของสมาชิกกว่าหมื่นไร่ ขณะที่มะม่วงใน 3 จังหวัดที่เป็นแหล่งใหญ่ คือพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์รวมแล้วนับแสนไร่เลยทีเดียว มะม่วงที่ปลูกกว่า 60%เป็นน้ำดอกไม้สีทองกับน้ำดอกไม้เบอร์ 4 รองลงมาเป็นฟ้าลั่น โชคอนันต์ อีก 5%เป็นมะม่วงพันธุ์อื่นๆ เช่น มหาชนก การผลิตมะม่วงของวังทับไทรจะเน้นผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนตลาดส่งออก โดย 70% ของผลผลิตจะป้อนตลาดต่างประเทศ โดยพันธุ์ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้จะส่งไปยังตลาดมาเลย์ เวียดนาม สิงคโปร์ ส่วนที่ป้อนตลาดญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นตลาดเกรดบนยังปีปริมาณไม่มาก ประมาณ 300 ตัน/ปี เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองกับเบอร์ 4 ส่งไปยังญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปผ่านบริษัทส่งออกที่เข้ามารับซื้ออยู่หลายบริษัท เช่น สยามเอ็กซ์ ปอร์ต มาร์ท ,สวิฟท์,ซีพี,ไชน์ไฟร์ท สยามธานียามา เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งประมาณ 100-200 ตัน/ปี จะส่งเข้าโรงงานแปรรูปของปริ้นเซส และทิมฟูดส์เป็นมะม่วงมหาชนกและน้ำดอกไม้ โดยบริษัทส่งออกต่างๆเหล่านี้จะเข้ามาตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ เทคนิคการผลิตมะม่วงนอกฤดูคุณภาพส่งออก คุณสายัณห์นั้น ทำสวนมา 20 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจาก 10 กว่าไร่ เริ่มขยายพื้นที่มากๆในปี 30-33 ปัจจุบันมีพื้นที่ 300 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 200 ไร่ อีก 200 ไร่ยังไม่ให้ผลผลิต การผลิตจะแบ่งล็อคในการทำให้มะม่วงเก็บไม่พร้อมกัน จริงๆรายละเอียดในการผลิตมีเยอะ แต่ขอแบบคร่าวๆ ส่วนใครที่ต้องการแบบละเอียด สามารถสอบถามคุณสายัณห์ได้ การผลิตมะม่วงเริ่มจาก หลังจากเก็บมะม่วงในฤดูเสร็จเดือนเมษายนจะตัดแต่งกิ่ง เตรียมต้น เตรียมใบ โดยฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยทางใบ 0-52-34 +ซุปเปอร์ เค ประมาณ 3-4 ครั้ง ส่วนทางดินใส่ 8-24-24 ช่วงหลังราดสารประมาณปลายเดือน ก.ค.-ต้น ส.ค. เพียงครั้งเดียว อัตรา 1 กก./ต้น(ต้น 20 ปี) เพื่อให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ ออกช่อพร้อมกัน พอช่วง ก.ย.ถ้าใบแก่ ใบพร้อม สภาพอากาศพร้อมหมายความว่าไม่มีฝนชุก ก็จะเปิดตาดอก โดยใช้ไทโอยูเรีย 2 กก. โปแตสเซียมไนเตรท 13-0-46 อัตรา 12.5 กก.พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน ถ้าเตรียมต้นมาดี ใบพร้อม ก็จะได้ดอก 70-80% ถ้าโชคไม่ดีเจอฝน ดอกออกไม่เยอะก็ต้องสะสมใหม่ รอเปิดตาดอกอีกครั้ง 20 วันหลังจากนี้ จากนั้นก็ปล่อยให้มะม่วงเติบโตไปตามแกติ ขนาดผลเท่าไข่เป็ดหรือประมาณ 45 วัน จะห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอน มะม่วงรุ่นแรกนี้จะสามารถเก็บได้ในช่วงปลาย ธ.ค.- ต้นเดือน ม.ค. จากนั้นมะม่วงจะกระทบนาวและออกดอกมาตามธรรมชาติ แทบไม่ต้องดูแลอะไรก็มีมะม่วงให้ได้เก็บอีกรุ่นในเดือน เม.ย.ซึ่งเป็นรุ่นในฤดู เท่ากับว่าปีหนึ่งจะได้เก็บมะม่วง 2 รุ่น นอกจากจะไม่ให้ปุ๋ยทางใบและโครตธาตุอาหารอย่างดุเดือดเหมือนการผลิตมะม่วงในเขตอื่นแล้ว สำหรับการจัดการกับโรค-แมลงนั้นที่นี่ก็จะไม่ฉีดยาดุเดือดเหมือนที่อื่นด้วย โดยการพ่นสารเคมีจะพ่นแค่ช่วงดอกถึงติดผลอ่อน ใช้เวลาประมาณ 1.5 เดือน ซึ่งช่วงนี้ฝนที่นี่ค่อนข้างชุก ถ้าฝนตกวันไหนต้องพ่นยาทันที บางครั้งพ่นกันทุกวัน ยาเชื้อราจะใช้โพรคลอราซ อมิสตา แอนทราโคล ส่วนยาฆ่าแมลงใช้เมโทมิล แลมป์ด้า ไซฮาโลทรินฆ่าหนอน ส่วนแมลงปีกแข็งใช้คาร์บาริล แลมป์ด้า ไซฮาโลทริน รายได้และต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิตมะม่วงที่นี่คุณสายัณห์บอกว่าอยู่ที่ประมาณไร่ละ 1.3-1.5 หมื่นบาท ส่วนมะม่วงที่ไม่ห่อผลจะอยู่ที่ 5,000-7,000 บาท แต่มะม่วงส่งออกจะต้องห่อผลทั้งหมด สำหรับผลผลิตมะม่วงต่อไร่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ ไร่ละ 1 ตัน (จากมะม่วง 2 รุ่น) อย่างที่สวน 200 ไร่ ผลผลิตต่อปีก็อยู่ที่ 200 กว่าตัน โดยผลผลิต 50% ส่งญี่ปุ่น อีก 50% ขายในบ้านเรา ส่วนรายได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าส่งตลาดที่ไหน ส่งออกหรือขายในบ้านเรา ราคามะม่วงช่วงนั้นเท่าไหร่ ถ้ามะม่วงราคา 15-30 บาท/กก. ก็จะมีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อไร่ ถ้ามะม่วงราคา 50-60 บาท/กก. ก็จะมีรายได้ 5-6 หมื่นบาทต่อไร่ ก็ลองคิดดูว่าพื้นที่มะม่วง 200 ไร่ของคุณสายัณห์จะทำรายได้ขนาดไหน และพื้นที่ปลูกมะม่วงนับ 10,000 ไร่ของวังทับไทร จะทำเงินสะพัดในชุมชนขนาดไหน อยากเห็นภาพก็ลองแวะไปเยี่ยมดูการปลูกมะม่วงที่นี่กัน กำลังคึกคักกับผลผลิตมะม่วงที่ออกสู่ตลาดในช่วงสูงสุดเลยทีเดียว เชื่อแน่ว่ามันจะทำให้คุณอยากเปลี่ยนมาเป็นชาวสวนมะม่วงหรือไม่ก็ไปปักหลักหาซื้อที่ทำสวนมะม่วงที่นั่นสักแปลงกันเลยทีเดียว ใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณสายัณห์ บุญยิ่ง 77 ม.1 ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร โทร.081-8871964 ติดตามความรู้ด้านการเกษตรดีๆได้ที่ กลุ่มเกษตรก้าวใหม่ cr.Rakkaset Nungruethail แหล่งที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539804319&Ntype=8
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/en/knowledge/%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a3/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save