“ปลูกมันสำปะหลังให้รุ่ง ต้องมี 7 ต” ศรัณยพงศ์ แสงวินาวรกุล-ศพก.ครบุรี ชี้ทางให้
24Dec,18
ด้วยเกษตรกรในตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ส่วนใหญ่ยึดอาชีพปลูกมันสำปะหลัง โดยคิดเป็นพื้นที่ถึงร้อยละ 53 ของพื้นที่ทั้งหมดของตำบล เนื่องจากมีลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลัง หรือที่เรียกว่า S1 จึงทำให้เกษตรกรในตำบลแห่งนี้ส่วนใหญ่ยึดอาชีพปลูกมันสำปะหลัง โดยคิดเป็นพื้นที่รวมถึงร้อยละ 53 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นการจำหน่ายเป็นหัวสดและต้นพันธุ์
แต่ในขณะเดียวกันในการประกอบอาชีพนั้นพบว่ามีปัญหาตามมาอีกไม่น้อย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพที่อย่างยั่งยืนทั้งด้านอาชีพและรายได้ โดยนอกเหนือจากปัญหาด้านราคาผลผลิตไม่แน่นอน แล้วเกษตรกรในพื้นที่ตำบลแชะยังต้องประสบกับปัญหา ทั้งจากภัยธรรมชาติ และโครงสร้างของพื้นดิน โดยพบว่าในบางปีต้องประสบปัญหาฝนแล้ง โรคแมลงศัตรูเข้าระบาดทำความเสียหาย อีกทั้งยังต้องพบกับปัญหาดินเป็นดินดาน ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงปัญหาปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นอันนำมาซึ่งความยากลำบากให้กับเกษตรกรในพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการบริหารดูแลด้านภาคการเกษตร จึงได้ทุ่มเทสรรพกำลังเข้ามาช่วยเหลือ สร้างหนทางที่จะทำให้เกษตรกรสามารถก้าวข้ามปัญหา นำมาซึ่งความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอาชีพการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้
โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง และเหมาะสมสำหรับชุมชน รวมถึงการเป็นศูนย์ กลางการบริการ และแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ กับเกษตรกรในชุมชน โดยดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชน ในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. จะมีองค์ ประกอบหลักที่สำคัญ 4 ประการ คือ
หนึ่ง เกษตรกรต้นแบบ เป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้ ที่เป็น Smart Farmer มีความรู้ ทักษะและความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ และประสบความสำเร็จในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่ ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด เป็นที่ยอมรับและสามารถเป็นแบบอย่างให้ กับเกษตรกรรายอื่นๆ
สอง แปลงเรียนรู้ เป็นแปลงของเกษตรกรต้นแบบที่ทำการผลิตสินค้าเกษตร สามารถใช้ ประโยชน์ ในการสาธิตวิธีการและสาธิตผลให้กับเกษตรกรในชุมชนได้เรียนรู้
สาม หลักสูตรการเรียนรู้ เป็นชุดเนื้อหาวิชาที่ตอบโจทย์ และประเด็นปัญหาทางการเกษตรของชุมชน โดยเกษตรกรต้นแบบนักวิชาการเกษตร นักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดขึ้น
สี่ ฐานเรียนรู้ เป็นจุดเรียนรู้ เรื่องที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียน เช่น การใช้ ปุ๋ยตามค่าวิ เคราะห์ ดิน การผลิตเมล็ดพันธุ์ การผลิตสารชีวภาพ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การจัดการศัตรู พืช ฯลฯ เพื่อใช้ ในการจัดแสดง และการฝึกปฏิบัติให้ผู้เรียนรู้ได้เห็นและนำไปปฏิบัติต่อเนื่องได้
สำหรับที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของตำบลแชะนั้น ในปัจจุบันมีนายศรัณยพงศ์ แสงวินาวรกุล เป็นเกษตรกรเจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและบริหารจัดการแปลงมันสำปะหลัง อันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่แห่งนี้
ศพก.ของนายศรัณยพงศ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 309 หมู่ 2 ตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โทร. 081-0735207 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยพื้นที่มันสำปะหลังในครอบครองจำนวน 50 ไร่ ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการบริการจัดการแปลงมันสำปะหลังให้ทั้งกับเกษตรกรในตำบลและจากพื้นที่อื่นๆที่มีความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง
ศพก.ของนายศรัณยพงศ์นั้นมีองค์ประกอบตามหลักการอย่างชัดเจน ไม่ว่า การเป็นเกษตรกรต้นแบบ ซึ่งนายศรัณยพงศ์นั้นถือเป็นเกษตรกรที่มีลักษณะหัวไวใจสู้ มีการศึกษาเรียนรู้พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ทั้งจากการใช้ภูมิปัญญาตนเองและจากการเข้ารับการฝึกอบรมองค์ความรู้ต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี
“ภูมิใจมากครับที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นประธานศพก.ของอำเภอครบุรี รวมถึงได้เข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จนทำให้ผมมีองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปลูกมันสำปะหลังได้ประสบความสำเร็จ และสามารถเอามาถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร จนหลายคนที่นำไปพัฒนาปรับใช้ สามารถก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้อย่างเห็นผลอย่างชัดเจน” นายศรัณยพงศ์กล่าว
หลักสูตรการเรียนรู้ ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนรู้ที่เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้จากนายศรัณยพงศ์ได้อย่างเต็มที่คือ การลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง ด้วยการใช้เทคนิคที่เรียกว่า 7 ต จึงทำให้ในปัจจุบันนายศรัณยพงศ์สามารถลดต้นการผลิตลงได้ถึงไร่ละ 500 บาท จากเดิมที่ต้องใช้ต้นทุนมากถึงไร่ละ 5,500 บาท ขณะเดียวกันยังได้มันสำปะหลังที่มีคุณภาพดี ให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูง
“เมื่อเราลดต้นทุนได้ ผลดีคือ ทำให้กำไรมากขึ้นซิครับ”
สำหรับการเข้ามาเรียนรู้ที่ศพก.แห่งนี้ เกษตรกรจะสามารถเรียนรู้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ต่าง ๆได้จากฐานเรียนรู้ที่แบ่งออกเป็น 5 ฐานที่ประกอบด้วย
ฐานที่ 1 การเตรียมดิน การปรับปรุงบำรุงดิน
ฐานที่ 2 การเตรียมพันธุ์ การเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม
ฐานที่ 3 การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและสปริงเกอร์
ฐานที่ 4 การดูแลรักษาและการกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ย
ฐานที่ 5 การจัดการโรคและแมลงมันสำปะหลัง
“ทุกคนที่เข้ามาศึกษาจะได้รับความรู้จากฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และนำสิ่งต่าง ๆเหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจเมื่อเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเราเปิดกว้างเต็มที่มาไม่ถูกโทร.มาสอบถามก็ได้ครับ” นายศรัณยพงศ์กล่าว
ส่วนในเทคนิคที่เรียกว่า 7 ต เป็นอย่างไรนั้น นายศรัณยพงศ์ ได้ไขข้อสงสัยว่า เทคนิค 7 ต นั้น ได้รับการถ่ายทอดจากกรมส่งเสริมส่งเสริมการเกษตร โดยเป็นแนวคิดในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังตามหลักวิชาการ และมีการนำมาประยุกต์ให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย สำหรับการดำเนินการนั้น นายศรัณยพงศ์ บอกว่า ต้องเริ่มจาก
ต แรก คือ เตรียมพันธุ์ดี หากมีการใช้ท่อนมันสำปะหลังไม่มีคุณภาพ จะส่งผลทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกและความแข็งแรงต่ำ ผลผลิตต่อไรที่จะได้รับก็ลดลง ดังนั้นเกษตรกรควรเลือกใช้ต้นพันธุ์ทีดี โดยลักษณะที่ควรเลือกใช้คือ ควรมีอายุ 8 – 12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกิน 1 เดือน ใช้ท่อนพันธุ์ยาว 20 – 25 ซม. นอกจากนี้ต้องไม่ใช้ส่วนปลายและโคนลำต้นมาทำป็นท่อนพันธุ์
ต ที่สอง คือ เตรียมดินดี การเตรียมดินที่ดีช่วยให้ดินโปร่งระบายน้ำดี น้ําไม่ท่วมขัง ทําให้หัวไม่เน่า การเตรียมดินให้ทำการไถผาลสาม 1 ครั้ง เพื่อฝังกลบวัชพืช ไถผาลเจ็ด 1 ครั้งเพื่อย่อยดิน ไถระเบิดดินดานในพื้นที่ที่มี ปัญหาดินดาน จะช่วยให้ถอนง่ายได้น้ำหนัก
ต ที่สาม คือ เติมความอุดมสมบูรณ์ของดิน การปลูกมันสำปะหลังซ้ำในที่เดิมติดต่อการหลายปีทําให้ดินเสื่อม ความอุดมสมบูรณ์ต่ำผลผลิตลดลง การเติมความสมบูรณ์ของดินทำได้ โดย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตราไร่ละ 1-2 ตันร่วมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรื อ 15-7-18 , 16-8-14 ไร่ละ 50-100 กิโลกรัม หรือปลูกพืชตระกูลถั่วหรือปอเทืองหมุนเวียนเป็นปุ๋ยพืชสด ในพื้นที่ลาดชันอาจไถขวางหรือปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดชันของแปลงปลูกมันสําปะหลัง
ต ที่สี่ คือ ตัดตอนวัชพืช วัชพืชทําให้ผลผลิตมันสําปะหลังลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ การเตรียมดินดีไถดินลึกช่วยฝังกลบวัชพืชได้ ช่วงเวลา 1-4 เดือน หลังปลูกต้องกําจัดวัชพืชสม่ำเสมอ
ต ห้า คือ ต้องเก็บเกี่ยวอย่างมี คุณภาพ การเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังก่อนกําหนด จะมีผลทําให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ต้องเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังเมื่อมีอายุ 12 เดือน หากเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุ 18 เดือนผลผลิตอาจเพิ่มได้อีก 50 เปอร์เซ็นต์
ต ที่หก คือ ต้องแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมี เพื่อช่วยป้องกันการเข้าทําลายของเพลี้ยแป้งมัน ใน 1-2 เดือนหลังมันสำปะหลังงอก วิธีแช่ผสมสารเคมีตามอัตราและวิธีตามคำแนะนำคือต้องแช่ในส่วนผสมสารเคมีอย่างน้อย 80 ลิตรต่อท่อนพันธุ์ 1 ไร่ ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม นำท่อนพันธุ์ ที่เตรี ยมไว้ แช่ในส่วนผสมสารเคมีให้มิดนาน 5-10 นาที นําท่อนพันธุ์ขึ้นจากน้ำยาผึ่งให้แห้งแล้วไปปลูก หากยังไม่ปลูกทันที เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 คืน
ต ที่เจ็ด สุดท้าย คือ ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง และสามารถจัดการได้ทันท่วงที อีกทั้งควรตรวจแปลงสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ หากพบว่ามีการทำลายของเพลี้ย ปฏิบัติดังนี้ มันสําปะหลังอายุไม่เกิน 4 เดือน เด็ดยอดที่มี เพลี้ยแป้งใส่ถุงนำไปทำลายนอกแปลง มันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือน ตัดส่วนที่มีเพลี้ยแป้งหรือถอนต้นออกไปทำลาย มันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังทันที เก็บเศษซากที่เหลือไปทำลายนอกแปลง
“สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในมุมมองผมคือ การลงมือทำจริง ใส่ใจทุกขั้นตอน รู้แล้วก็ไม่ทำย่อมไม่สำเร็จอย่างแน่นอน” นายศรัณยพงศ์ กล่าวในที่สุด
ที่มา: