Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 นางสาวพรภิมล จันทร์อ่อน เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน นางสาวชนิตา หนูผึ้ง นักวิชาการเกษตร และนายศุภกร ชูส่งแสง นักวิชาการเกษตร ฝ่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดินที่ 5 สถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่บ้านหนองบ่อ หมู่ที่ 6 ตำบลควนสุบรรณ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งเป็นแปลงเพาะปลูกมันขี้หนูของนางมิสกรี ทองนวล หมอดินอาสาประจำตำบล ซึ่งปลูกมันขี้หนู แซมในสวนยางพารา เนื้อที่ 15 ไร่ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ดูแลง่าย และเป็นที่นิยมของผู้
บริโภคในพื้นที่ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายโดยขายในราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,300-1,500 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถสร้างรายได้ และเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่ปลูกยางพาราได้เป็นอย่างดี
มันขี้หนู เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แพร่กระจายเข้ามาสู่ชวา และประเทศในคาบสมุทรมลายู ประเทศไทยจะพบได้มากในภาคใต้ในสภาพธรรมชาติ ทั้งตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และสวนปาล์ม ไปจนถึงสวนยางพารา รวมถึงตามบ้านเรือนที่นิยมปลูกไว้รับประทาน
เป็นพืชท้องถิ่นมีหัวที่นิยมปลูก และรับประทานมากในภาคใต้ เนื่องจากหัวมันขี้หนูนิยมนำมาประกอบอาหาร อาทิ แกงส้มปลาใส่หัวมันขี้หนู แกงจืดหัวมันขี้หนู แกงเหลือง และแกงไตปลา รวมถึงนำใบอ่อน และยอดอ่อนมาลวกรับประทานเป็นผักแกล้มน้ำพริกหรืออาหารรสจัด เช่น คั่วกลิ้ง บางพื้นที่ยังนำหัวมันขี้หนูมาทำแป้งสำหรับทำขนมหวานชนิดต่าง ๆ อีกด้วย
เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นตั้งตรง ขนาดเล็ก และมักขึ้นกระจุกกันแน่น จนบางแห่งมีลักษณะเป็นกอหรือทรงพุ่ม ลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม อวบน้ำ และมีขนปกคลุม ส่วนรากประกอบด้วยโคนรากที่พัฒนาเป็นหัว และรากฝอยค่อนข้างยาวที่แตกออกจากปลายหัวด้านล่าง
หัวมันขี้หนู มีขนาดเล็กที่เป็นรากสะสมอาหาร ลักษณะเรียวยาว ทรงกระบอก หัวท้ายป้าน ขนาดหัวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร เปลือกหัวบาง มีสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีส้มอมเหลือง เนื้อหัวด้านในมีสีขาวอมเหลืองหรือสีครีมหรือสีม่วง ให้รสชาติมัน และหวานเล็กน้อย
เติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย พื้นที่ปลูกไม่มีน้ำท่วมขัง และมีแสงแดดส่องตลอดทั้งวัน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้นิยมนำมาปลูกในสวนยางพาราปลูกใหม่ และสวนปาล์มที่มีอายุน้อย เพราะมีแสงแดดส่องทั่วแปลง การเตรียมแปลงทั้งในแปลงสวนยางพาราหรือสวนปาล์มจะใช้การไถพรวนดิน และตากดิน พร้อมกำจัดวัชพืชนาน 5-7 วัน ก่อนไถพรวนแปลง และตากดินก่อนปลูกอีก 1 ครั้ง นาน 3-5 วัน ทั้งนี้ เกษตรกรอาจหว่านปุ๋ยคอก ก่อนการไถพรวนและก่อนปลูก
การปลูกจะใช้หัวมันขี้หนูที่เก็บ และนำมาพักทิ้งไว้แล้วประมาณ 3 เดือน โดยคัดหัวที่เริ่มแตกหน่อแล้วประมาณ 3-4 เซนติเมตร ระยะห่างต่อหลุมประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ละหลุมใช้หัวประมาณ 1-4 หัว โดยหัวใหญ่ใช้ประมาณ 1-2 หัว หัวเล็กใช้ 2-4 หัว
อีกวิธีคือการปลูกด้วยยอดจะใช้การตัดต้นหรือตัดยอดจากต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 4 เดือน โดยตัดยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนนำไปปักชำหนึ่งจุดต่อ 1-2 ยอดต่อหลุม ในระยะห่าง 5-10 เซนติเมตร หรือปลูกลงแปลง เป็นหลุมห่างกัน 30-40 เซนติเมตร หลุมละ 2-4 ยอด
ประมาณ 6 เดือน จนถึง 8 เดือน ก็สามารถเก็บหัวมาบริโภคหรือขายได้ การถอนเกษตรกรจะใช้มือถอนทั้งต้นหรือไถพรวนก่อนซึ่งผลผลิตโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2-3 ตันต่อไร่ ราคาขายทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 20-40 บาท
ที่มา: https://www.dailynews.co.th/agriculture/611923