เยี่ยมสวนมะกรูด ผลิตใบมะกรูดคุณภาพป้อนตลาดส่งนอก

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

มะกรูด…ไม้นอกสายตาที่หลายคนอาจจะมองข้ามความสำคัญมาโดยตลอด นั่นเพราะช่วงที่ผ่านการปลูกมะกรูดเชิงการค้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแทบไม่มีให้เห็นบ่อยนัก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยมองมะกรูดไกลไปกว่าส่วนประกอบหลักของเครื่องต้มยำคู่ข่า ตะไคร้เลย คนที่ปลูกมะกรูดจึงจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะคิดว่าตลาดแคบ หากเข้าไปสัมผัสจริงๆแล้วจะรู้ว่ามะกรูดเป็นพืชที่มีปริมาณการใช้มากทีเดียว นอกจากการบริโภคใบสดที่เราคุ้นเคยโดยเฉพาะ เมนูต้มยำที่ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและต่างชาติจนกลายเป็นเมนูระดับนานาชาติ ทำให้ความต้องการของชุดต้มยำซึ่งมีใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบหลักเพิ่มสูงมากขึ้น นอกจากนี้โรงงานแปรรูปต่างๆ ทั้งโรงงานผลิตน้ำพริก เครื่องแกง โรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย รวมถึงบริษัทส่งออกที่ต้องการใบมะกรูดสดเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศที่มีความต้องการใบมะกรูดปริมาณมาก จนทำให้เกษตรกรที่ปลูกมะกรูดในวันนี้สามารถสร้างรายได้ดีไม่แพ้พืชอื่นเลยทีเดียว คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ หนึ่งในชาวสวนมะกรูดรุ่นใหม่ที่ทำให้โฉมหน้าของมะกรูดจากพืชโบราณนอกสายตาสู่พืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งในวันนี้ และเป็นหนึ่งในกลุ่ม ชมรมผู้ปลูกมะกรูดตัดใบเพื่อการค้า ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ปลูกมะกรูดรุ่นใหม่ที่อยากเห็น รวมกลุ่มผู้ปลูกและผู้สนใจพืชชนิดนี้ให้เดินหน้าทั้งการผลิตและการตลาด ชมรมเสมือนเป็นเวที ให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มคนปลูกมะกรูดทั้งการผลิตและการตลาดพร้อมกับการช่วยกันทำตลาดเพื่อให้มะกรูดก้าวสู่พืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับกว้างขวางเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น ก็ขอเอาใจช่วยกับการทำงานในครั้งนี้ด้วยค่ะ คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ เป็นชาวสวนรุ่นใหม่อีกคนที่สนใจอาชีพเกษตร ทั้งที่ชีวิตห่างไกลกับอาชีพนี้เหลือเกิน เพราะครอบครัวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรเลย อีกทั้งคุณศิวาวุธก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านเกษตรเลย เขาจบปริญญาตรีและโทด้านต่างประเทศและการปกครอง หลังจากทำงานฝ่ายต่างประเทศในบริษัทเอกชนไม่นานคุณศิวาวุธกลับพบว่าการทำงานในออฟฟิศไม่ใช่เส้นทางที่เขาอยากเดิน เขาอยากทำงานอิสระที่เป็นนายของตัวเอง เขาเริ่มหันมาสนใจอาชีพเกษตร และศึกษาอาชีพนี้ มองหาพืชที่น่าลงทุนในการปลูก พืชหลายชนิดเข้ามาในสมอง และพืชที่เขาเลือกก็คือ มะนาว คุณศิวาวุธจึงแสวงหาความรู้เรื่องมะนาวโดยเข้าอบรมกับ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งในครั้งนั้นมีเรื่องมะกรูดตัดใบด้วย เขาเห็นว่ามะกรูดเป็นพืชที่มีจุดเด่นหลายประการเมื่อเทียบกับมะนาว โดยเฉพาะ ปลูกง่าย การดูแลไม่มาก น่าจะเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่อย่างเขามากกว่ามะนาว ในแง่ของการให้ผลผลิตก็เร็วกว่า ในด้านตลาดมะกรูดก็มีความต้องการสูงแต่ยังไม่มีการปลูกเชิงการค้าจริงจัง โอกาสด้านตลาดก็น่าจะมีมาก หลังการอบรมคุณศิวาวุธก็ค่อนข้างมั่นใจกับพืชชนิดนี้ จึงซื้อกิ่งพันธุ์มาลงปลูกชุดแรก 3,600 กิ่ง   (1 ไร่ ประมาณ 4,500 ต้น) ชุดนี้เขาลงทุนปลูกในโรงเรือนโดยหวังผลในการป้องกันแมลงเข้าไปทำลายมะกรูด โดยมะกรูดชุดแรกนี้ลงทุนสูงถึงกว่า 3 แสนบาทเลยทีเดียว หลังจากนั้นอีก 1.5 ปี เขาขยายปลูกเพิ่มอีก 15,000 ต้น ชุดนี้ปลูกกลางแจ้งทั้งหมด ซึ่งก็ช่วยประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก การปลูกมะกรูด คุณศิวาวุธจะใช้ระยะชิดโดยใช้ระยะปลูก 50X50 ซม. ปลูกแบบสลับฟันปลา ซึ่งระยะนี้ถ้าปลูกเต็มพื้นที่จะได้ 4,500 ต้น/ไร่ แปลงปลูกจะยกร่องกว้าง 1 แมตร แล้วปลูก 2 แถวบนร่อง ที่ต้องยกร่องเพราะมะกรูดไม่ชอบน้ำขังและไม่ทนน้ำท่วม ส่วนของระบบน้ำใช้น้ำหยด โดยมีอัตราการจ่ายน้ำชั่วโมงละ 1.5 ลิตร แต่จะเปิดน้ำนานประมาณ 20-30 นาที และติดตั้งสปริงเกลอร์ไว้ด้านบนเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในช่วงที่อุณหภูมิสูงมาก สำหรับการดูแลมะกรูดก็ไม่มีอะไรมาก ช่วงแรกต้องคอยระวังหนอนชอนใบ หนอนกัดยอดในช่วงใบอ่อน ปัญหาใหญ่ของมะกรูดก็คือเพลี้ยไฟ ไรแดงซึ่งมุ้งก็ไม่สามารถกันแมลงดังกล่าวได้ การจัดการโรค-แมลงจะเน้นใช้ชีวภัณฑ์ อย่างหนอนก็ใช้เชื้อบี.ที ส่วนเพลี้ยไฟ ไรแดงจะใช้เชื้อบิวเวอเรีย แต่ถ้าระบาดหนักจนคุมไม่อยู่หรือสร้างความเสียหายก็จะใช้สารเคมีมาสลับก่อน แล้วจึงกลับมาใช้ชีวภัณฑ์ต่อ ช่วงฝนเจอปัญหารากเน่าบ้าง ไม่มาก มีบางต้นที่ตายก็จะปลูกซ่อมไป ในส่วนของปุ๋ยจะจ่ายปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด โดยผสมปุ๋ยใช้เองจากแม่ปุ๋ย 3 ตัว คือ 46-0-0,12-60-0 และ 0-0-60 สัดส่วนของปุ๋ยที่ใช้อยู่ที่ 5:1:4 ใช้สูตรนี้ตลอด โดยเพิ่มปริมาณขึ้นตามขนาดของต้น อย่างต้นเล็กจะให้อัตรา 3 กรัม/ต้น/อาทิตย์ ต้นโตก็จะให้ปุ๋ย 5 กรัม/ต้น/อาทิตย์ นอกจากนี้ก็จะให้น้ำขี้หมูเสริม โดยใช้อัตรา 100 ลิตร/ไร่/ครั้ง คุณศิวาวุธบอกว่า การตัดแต่งกิ่งมะกรูดเพื่อจำหน่ายในครั้งแรกนับว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะจะมีผลอย่างมากต่อการให้ผลผลิตของใบในชุดต่อไป โดยปกติการตัดกิ่งขายในแต่ละครั้งจะตัดกิ่งให้สูงจากพื้นดินขึ้นมา 60-80 ซม. จากนั้นมะกรูดจะแตกกิ่งใหม่ขึ้นมา ช่วงนี้แหละสำคัญ ต้องเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่ทำมุมแคบกับลำต้น ซึ่งกิ่งลักษณะนี้จะเป็นกิ่งที่มีแนวโน้มที่จะให้ใบที่มีคุณภาพ นั่นคือ ใบมีขนาดใหญ่ และสวย ส่วนกิ่งที่ทำมุมองศากว้างจะมีแนวโน้มติดผลได้ จึงไม่ควรเลือกไว้ ส่วนกิ่งแขนงที่เหลือหลังจากคัดเลือกกิ่งคุณภาพแล้วตัดทิ้งให้หมด มะกรูดหลังจากลงปลูกแล้วประมาณ 6-8 เดือนก็สามารถตัดกิ่งจำหน่ายได้ ตอนนี้มีต้นที่ตัดใบขายได้แล้วประมาณ 9,000 ต้น หรือประมาณ 110 ร่อง แต่คุณศิวาวุธจะทยอยตัดทุกวัน วันหนึ่งประมาณ 4 ร่อง ปริมาณการตัดต่อวันประมาณ 100-130 กก. คุณศิวาวุธบอกว่ามะกรูด 1 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 3-4 ขีด โดยหลังจากตัดใบขายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 45-50 วันจึงจะกลับมาตัดได้ใหม่อีกครั้ง ในรอบ 1 ปี จะตัดใบได้ประมาณ 7-8 ครั้ง โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ในด้านการตลาดมะกรูดที่นี่เป็นที่ยอมรับว่าใบสวย คุณภาพดี คุณศิวาวุธใช้ประสบการณ์ด้านต่างประเทศมาเปิดตลาดใบมะกรูดในต่างประเทศเอง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีในหลายประเทศ โดยใบอบแห้งจะส่งญี่ปุ่น อเมริกา ใบแช่แข็งส่งออสเตรเลีย โดยผลผลิต 90% ป้อนตลาดต่างประเทศ อีก 10% ส่งเข้าโรงงานน้ำพริกและอบแห้งเป็นส่วนประกอบในเครื่องเทศต่างๆ โดยราคาใบมะกรูดอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/กก. คุณศิวาวุธบอกว่ามะกรูด 1 ต้นจะตัดใบได้ต่อครั้งประมาณ 3-4 ขีด ถ้า 1 ไร่ 4,500 ต้น จะได้ประมาณ 1,300-1,500 กก.ต่อครั้ง ใบมะกรูดสวยๆสามารถสร้างรายได้มากถึง 4-5 หมื่นบาท/เดือนเลยทีเดียว ยิ่งใบมะกรูดที่ใบสวยยิ่งขายได้ราคาแพง 80-100 บาท/กก.เลยทีเดียว คุณศิวาวุธบอกว่า ตลาดซื้อ-ขายมะกรูดในบ้านเราจะนิยมแบบตัดเป็นกิ่ง มีทั้งกิ่งยาง กิ่งสั้น แต่ที่คุณศิวาวุธจะนิยมตัดกิ่งสั่น ความยาวของกิ่งประมาณ 1 คืบ หรือประมาณ 20 ซม. ราคาขายในช่วงทั่วไปก็จะอยู่ที่ 30-40 บาท/กก. ช่วงฝนใบมะกรูดจะมีราคาถูก ราคามะกรูดกิ่งก็จะอยู่ที่ 25-30 บาท แต่ช่วงนี้ใบมะกรูดราคาแพงเพราะอากาศหนาว มะกรูดไม่ค่อยแตกกิ่งใบ ราคาค่อนข้างแพง ราคาจากสวนตอนนี้ 40-50 บาท/กก. ตลาดขายส่งอย่างตลาดไท สี่มุมเมืองขายกันที่ 70-80 บาท/กก เห็นรายได้จากมะกรูดแล้วนับเป็นพืชอีกชนิดน่าสนใจทีเดียว คุณศิวาวุธจึงตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก และมีแผนที่จะขยายการปลูกโดยการส่งเสริมลูกไร่ปลูก ทำโรงแพ็คเอง ซึ่งการผลิตมะกรูดคุณภาพดีนี้จะทำควบคู่ไปกับการเปิดตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขยายตลาดมะกรูดของบ้านเราให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ตลาดมะกรูดของกลุ่มสมาชิกมีอนาคตที่สดใสและมีความยั่งยืนด้วย ข้อมูลเพิ่มเติม คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ 559 ถ.ราชมรรคา ต.สนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม 73000 Facebook สวนมะกรูดบ้านคุณปู่ โทร.09-00048097 ครับ แหล่งที่มา: http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539816618&Ntype=8
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/en/knowledge/%e0%b9%80%e0%b8%a2%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%94/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save