Auto Draft

รู้จัก “ชายา” หรือ คะน้าเม็กซิโก ประโยชน์และโทษที่ควรรู้!

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

ขอเล่าเรื่องที่พบเห็นในช่วงงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ที่ผ่านมาสัก 2 เดือนแล้ว ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้หรือได้รู้จักต้นไม้ยอดนิยมชนิดหนึ่ง ที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยแปลกใจมากที่คนมาเที่ยวงานมหกรรมสมุนไพรต่างหอบหิ้วกลับบ้านกันมากมาย

ต้นไม้ที่ว่านี้ คือ คะน้าเม็กซิโก หรือ ผักโขมต้น

ภาษาสเปน เรียกพืชชนิดนี้ว่าชายา” (chaya) จึงขอนำมาเล่าให้รู้จักและใช้ให้ถูกวิธีเพื่อได้ประโยชน์เต็มที่และเลี่ยงอันตรายจากการบริโภค ในทางวิชาการแต่เดิมพืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa McVaugh การตั้งชื่อแบบนี้ได้นำเอาชื่อในภาษาสเปนไปตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ด้วย แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่เป็น Cnidoscolus aconitifolius (Mill.) I.M.Johnst.

ต้นคะน้าเม็กซิโก จึงไม่ใช่พืชถิ่นบ้านเรา แต่เป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาใต้ แต่นำเข้ามาในเมืองไทยเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด เท่าที่เคยเดินสำรวจชุมชนในจังหวัดมหาสารคามพบว่า มีการปลูกไม้ชนิดนี้ไว้บริโภคกันไม่น้อยทีเดียว อาจเป็นเพราะเป็นไม้ที่ขึ้นได้ง่าย เพียงหักกิ่งยาวประมาณ 1 คืบมาเสียบไว้ในดินที่มีความชุ่มชื้อก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ถ้าเป็นต้นที่ตัดกิ่งมาปลูกไม่ควรเก็บใบกินตั้งแต่ปีแรกๆ ควรรอต้นแข็งแรงในปีที่ 2 จึงเก็บใบกิน และถ้าจะเก็บใบกินก็ไม่ควรเก็บใบจากต้นเกินกว่า 50% เพราะจะทำให้ต้นโทรมได้ง่ายๆ เหตุที่คนไทยนิยมนำมาปลูกเนื่องจากเป็นพืชปลูกง่าย นำมาบริโภคในครัวเรือนก็ง่าย ที่สำรวจดูพบว่านิยมนำใบสดมาซอยแล้วทอดกับไข่ จะผัดหรือต้มก็ได้ ใบคะน้าเม็กซิโกนี้ใครได้กินก็จะพบกับรสชาติความอร่อยแน่นอน จนเวลานี้พี่น้องคนอีสานกินกันอย่างเอร็ดอร่อยแล้วตั้งชื่อไม้นอกชนิดนี้ว่ากกแซบบรรยายรสชาติได้อย่างดี ส่วนภาคกลางทั่วไปเรียกว่า คะน้าเม็กซิโก หรือนิยมเรียกอีกชื่อว่า ต้นชายา แต่ก็เคยได้ยินเกษตรกรภาคกลางเรียกว่าต้นไชยยาทำให้คิดเดาเอาว่าพืชชนิดนี้น่าจะนำเข้ามาที่เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสียอีก แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นชื่อในภาษาสเปนว่าชายาสำหรับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษเรียกว่า Tree spinach (ผักโขมต้น)

คะน้าเม็กซิโกเป็นไม้พุ่ม มีอายุหลายปี อยู่ในวงศ์เดียวกับยางพาราและสบู่ดำ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรยูกาตันของประเทศเม็กซิโก มีลำต้นอวบน้ำซึ่งจะคายน้ำยางขาวออกมาเมื่อถูกตัด เป็นไม้ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ โตเร็ว สามารถสูงได้ถึง 6 เมตร แต่นิยมตัดให้สูงไม่เกิน 2 เมตรเพื่อให้เด็ดใบมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ลักษณะใบกว้าง มีแฉกตั้งแต่ 3 แฉกขึ้นไป คะน้าเม็กซิโกเป็นพืชที่ทนฝน (ทนกระแทก) ทนแล้ง และทนต่อการทำลายของแมลงได้เป็นอย่างดี

ใครที่เคยท่องเที่ยวและชิมอาหารแถบอเมริกากลาง ต้องถือว่าคะน้าเม็กซิโกเป็นผักกินใบยอดนิยมชนิดหนึ่งในตำรับอาหารเม็กซิโก กัวเตมาลา และอเมริกากลาง คนที่ไม่คุ้นเคยกับพืชชนิดนี้มาก่อนอาจคิดว่าเป็นใบมะละกอ เพราะใบและยางคล้ายกับมะละกอมาก แต่มีช่อดอกที่แตกต่างจากมะละกอโดยสิ้นเชิง คะน้าเม็กซิโกออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นช่อตั้ง ในแต่ละช่อมีดอกสีขาวขนาดเล็กจำนวนมาก คะน้าเม็กซิโก เป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน วิตามิน แคลเซียม โพแทสเซียม และเหล็ก และยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสารต้านอนุมูลอิสระ ใบคะน้าเม็กซิโกยังมีระดับสารอาหารสูงกว่าผักใบเขียวชนิดใดๆ ที่ปลูกบนดิน

จากการศึกษาคุณค่าทางอาหารพบว่า คะน้าเม็กซิโกมีโปรตีน 8.25% ในขณะที่ถั่วอัลฟาฟามีเพียง 3.66% และผักโขมมีเพียง 2.00% จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมใบของคะน้าเม็กซิโกจึงมีรสชาติอร่อย เพราะมีปริมาณโปรตีนสูงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวัง ใบคะน้าเม็กซิโกดิบนั้นมีพิษ เนื่องจากมีสารกลูโคไซด์ซึ่งจะปลดปล่อยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ออกมา จึงจำเป็นต้องทำให้สุกก่อนรับประทาน โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการทำให้สุก เพื่อลดฤทธิ์ของสารที่เป็นพิษให้อยู่ในระดับปลอดภัย การเก็บใบคะน้าเม็กซิโกหรือการปรุงอาหารจากใบคะน้าเม็กซิโกห้ามใช้ภาชนะที่เป็นอะลูมิเนียม เพราะอาจทำให้น้ำต้มเป็นพิษและก่อให้เกิดอาการท้องร่วงได้

คะน้าเม็กซิโกสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง วิธีปรุงดั้งเดิมอย่างหนึ่งในเม็กซิโกและอเมริกากลางจะนำใบไปแช่น้ำแล้วต้มไฟอ่อนประมาณ 20 นาที จากนั้นเสิร์ฟกับน้ำมันหรือเนย นอกจากนี้ ยังมีการนำใบที่หั่นและทำให้สุกแล้วไปคลุกข้าวรับประทานกับอาหารรสจัด หรือนวดผสมกับมันฝรั่งบดแล้วทอด นวดผสมกับแป้งข้าวโพดแล้วนำไปจี่หรือปิ้งหรือนึ่งก็ได้

คะน้าเม็กซิโก หรือชายาน่าจะนำเข้ามาในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปี แล้วได้รับความนิยมมากพอสมควร แม้ว่าจะเป็นไม้ต่างชาติแต่ก็มีศักยภาพชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่นิยมมังสวิรัติหรือกินเจ หรือผู้ที่ต้องการลดเนื้อสัตว์ต่างๆ ลง เพราะคะน้าเม็กซิโกมีโปรตีนและแร่ธาตุที่สำคัญสูงกว่าผักชนิดอื่นๆ ปลูกง่าย ไม่มีแมลงรบกวน จึงเป็นอาหารทางเลือกที่ดีอีกชนิดหนึ่งของประชาชน แต่ควรรู้จักการปรุงให้สุกก่อนรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงพิษจากใบสดด้วย ลองแบ่งเวลาปลูกผักกินเอง สร้างความพอเพียงและสร้างสุขภาพในครัวเรือนกันนะ

[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/en/knowledge/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81-%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b2-%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad-%e0%b8%84%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%a1/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save