กุยช่าย พืชทำเงินของคนเมืองโอ่ง

Sorry, this entry is only available in Thai. For the sake of viewer convenience, the content is shown below in the alternative language. You may click the link to switch the active language.

ราชบุรี…นับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของบ้านเรามาช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำรวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของชาวสวนที่นี่ ทำให้ที่นี่การปลูกพืชที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตพืชคุณภาพอีกด้วย ทั้งการผลิตไม้ผล พืชผักล้วนมาจากฝีมือชาวสวนระดับเซียนทั้งนั้น วันนี้จะพาไปดูการปลูกกุยช่ายของชาวสวนระดับเซียนอีกคนหนึ่งของวงการ นั่นคือ คุณบัญชา หนูเล็ก เจ้าของ “สวนผักอุดมทรัพย์” ซึ่งเป็นสวนที่ปลูกผักกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ร่วมแรงร่วมใจกันผลิตผักคุณภาพให้กับผู้บริโภค เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก พืชที่ผลิตล้วนได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ GAP ทั้งหมด สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและการสร้างกำลังใจให้กับผู้ผลิตที่ต้องการปลูกผักที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคได้มีสุขภาพที่ดีเรื่อยมา คุณบัญชาเล่าว่า พื้นที่เกษตรทั้งหมดมีประมาณ 60 ไร่ ครึ่งหนึ่งปลูกพืชอย่างหลากหลาย เช่น คะน้า ผักกาดหอม กวางตุ้ง ขึ้นช่าย สลับกันไปตามช่วงจังหวะการขึ้นลงของราคา พืชผักชนิดไหนที่คาดว่าจะได้ราคาดีในช่วงไหนก็จะปลูกในช่วงนั้นๆ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 30 ไร่ นำมาปลูกกุยช่ายทั้งหมด โดยจะปลูกไล่รุ่นหมุนเวียนกันไปในพื้นที่ 30 ไร่ รุ่นหนึ่งก็จะปลูกคราวละ 6-7 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีกุยช่ายป้อนตลาดตลอดทั้งปี คุณบัญชาเล่าว่า ครั้งแรกนั้นจะปลูกผักกินใบเต็มพื้นที่ 60 ไร่ ต่อมาใน ปี 42 ได้นำกุยช่ายมาปลูกเป็นเจ้าแรกของเมืองราชบุรี ซึ่งครอบครัวคุณบัญชาเดิมอยู่ที่ตลิ่งชันซึ่งชาวสวนที่นี่นิยมปลูกกุยช่ายกัน แต่สำหรับราชบุรีแล้วกุยช่ายกลายเป็นพืชหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยของชาวบ้านที่นั่น ขณะที่คุณบัญชามองว่ากุยช่ายเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นานไม่ต้องปลูกและลงทุนบ่อยเหมือนผักชนิดอื่นที่ชาวบ้านที่นี่ปลูกกัน วันเวลาผ่านไปกุยช่ายก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของชาว อ.บางแพ จ.ราชบุรี คุณบัญชา บอกว่า กุยช่ายจะมีวัฏจักรในการผลิตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการเก็บเมล็ดพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงจะเก็บเมล็ดแก่จัดเพื่อใช้ทำพันธุ์ได้ การปลูกกุยช่ายเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ ไม่เก็บผลผลิตอื่นๆ เด็ดขาด เช่น การตัดใบขาย หรือเก็บดอก ทั้งนี้เพื่อคงความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ให้มากที่สุด 2. ระยะต้นกล้าสำหรับปลูก จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือนจึงสามารถนำไปปลูกลงแปลงได้ 3. การปลูกหลังจากที่เตรียมดินไว้แล้ว ต้นกล้าที่ใช้ปลูกจะตัดใบออกให้เหลือความยาวประมาณ 5-6 ซม. นำลงดำในแปลงที่เตรียมไว้โดยใช้ 4-6 ต้นต่อกอ ดำลึกประมาณ 1 นิ้ว พอที่ให้ต้นกุยช่ายตั้งตัวอยู่ได้ ระวังอย่าทำให้คอหัก ต้องปักดำต้นให้ตั้งตรง เว้นระยะห่างระหว่างกอประมาณ 1 คืบ ดำเสร็จแล้วคลุมด้วยฟาง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น ลดความร้อนที่ลงสู่ดิน และรดน้ำตาม แค่พอชื้น การปลูกกุยช่ายเริ่มจาก การเตรียมดินให้ดี จากนั้นโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินแล้วเติมความสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยรองพื้นเพิ่มธาตุอาหารและปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดีก่อนปลูก ส่วนการดูแลนั้นกุยช่ายเป็นพืชที่ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ การให้น้ำก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ให้ดินมีความชื้นอยู่เพียงพอตลอด และควรมีการถ่าย/วิดน้ำในร่องสวน 3 หรือ 4 เดือนครั้ง เพื่อลดความเป็นกรดในดิน ส่วนการให้ปุ๋ยในช่วงแรกหลังปลูกได้ 7 วัน จะใส่ปุ๋ยเคมี ยูเรีย (46-0-0) หรือสูตร 25-7-7 เพื่อเร่งต้น ให้แตกรากและตั้งตัวได้ พอตั้งต้นได้ดีแล้วก็จะไม่เร่งต้นมากเพราะเดี๋ยวโครงสร้างจะอ่อนแอ โรคเข้าทำลายได้ง่าย ปุ๋ยที่ให้จะเปลี่ยนเป็นสูตรเสมอผสมกับปุ๋ยชีวภาพบ้าง ซึ่งสัดส่วนที่ใช้ก็จะดูจากสภาพต้นหรือความต้องการของพืชเป็นหลัก รวมทั้งการแก้ปัญหาในแต่ละฤดูกาลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามที่ต้องการ อย่างเช่น หน้าร้อน ผักไม่ค่อยโต ใบไม่ค่อยงาม ก็ต้องมีการกระตุ้นด้วยยูเรียหรือปุ๋ยสูตรตัวหน้า(N) สูง หน้าฝน ผักได้ไนโตรเจนจากฝนเยอะแล้ว ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหรือสูตรตัวกลาง (P) กับตัวท้าย (K) สูง เพื่อกดใบไว้ไม่ให้งามเกิน เพราะจะทำให้เกิดโรคเน่าง่ายและหน้าหนาว ใบจะงามเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พืชไม่ค่อยออกดอกติดผล ก็จะใส่ปุ๋ยสูตรที่หนักไปทางตัวกลางกับตัวท้ายสูง เพื่อช่วยให้กุยช่ายออกดอกมากขึ้นในช่วงหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกุยช่ายมักจะมีราคาแพง ส่วนการจัดการด้านโรค-แมลง นั้นจะเน้นการป้องกันเอาไว้ก่อนโดยดูจากสภาพอากาศเป็นหลัก เช่น อากาศร้อน อบฝน ที่มักจะเกิดโรค แมลงได้ง่าย ก็จะต้องมีการฉีดยาป้องกันเอาไว้ โรคที่มักระบาดและเจอบ่อยในแปลงกุยช่ายก็จะมีใบเน่า ยุบ ถ้าระบาดรุนแรงใบจะเน่าเสียหาย ทำให้ต้นเน่ายุบตายเป็นหย่อมๆหรือตายหมดทั้งแปลง ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาช่วงฝนก็จะพ่นสารเคมีในกลุ่มเมทาแลกซิลเพื่อจัดการกับโรค ช่วงหนาวก็อาจใบจุดสนิมบ้างพ่นสารในกลุ่มคอปเปอร์หรือกำมะถันก็ช่วยได้ ส่วนแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหากับกุยช่ายพ่นเพียงไซเปอร์เมทรินและอะบาเม็คตินคุมไว้ก็พอแล้ว กุยช่ายอายุได้ 4 เดือนก็สามารถตัดใบขายได้แล้ว ในการตัดมีดแรกจะต้องคลุมฟางใหม่ รดน้ำและใส่ปุ๋ย ผ่านไปได้ 10 วันก็จะมีดอกกุยช่ายทยอยออกมาให้เก็บดอกขายต่ออีก หลังตัดใบครั้งแรก 2 เดือน ก็จะสามารถวนกลับมาตัดใบได้อีกครั้ง ถือเป็นครั้งที่ 2 หรือมีดที่ 2 เป็นอย่างนี้สลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในการตัดแต่ละครั้งจะทำให้ต้นเล็กลงไปเรื่อยๆและดอกก็จะสั้นลง จึงต้องมีการบำรุงเพื่อให้ต้นสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยกุยช่ายแต่ละแปลงจะสามารถตัดใบขายได้ประมาณ 4-5 มีด หรือหากดูแลดี ต้นสมบูรณ์ก็จะสามารถตัดได้ถึง 7 มีด เมื่อใบเริ่มไม่สวยไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ก็จะทำเป็น “กุยช่ายขาว” โดยใช้กระถางดินเผาครอบที่ต้นหลังจากที่ตัดใบในมีดสุดท้ายแล้ว พร้อมกับกางซาแลนช่วยพรางแสง เพื่อลดความร้อนที่ลงสู่กระถาง ใช้เวลา 10-12 วัน ก็สามารถตัดขายเป็นกุยช่ายขาวได้แล้ว โดยจะทำกุยช่ายขาวอยู่ประมาณ 2 รุ่นก็จะโล๊ะออก เรื่องของการตลาดนั้น คุณบัญชา บอกว่า การทำตลาดต้องมีการวางแผน “ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ผลผลิตที่นี่จะส่งแม่ค้าที่ตลาดศรีเมืองส่วนหนึ่ง อีกส่วนนำไปขายเองที่ตลาดสี่มุมเมือง สำหรับราคาและปริมาณการผลิตกุยช่ายนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล อย่าง หน้าร้อนจะได้ดอก 180 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อการเก็บเกี่ยว 3 วัน หน้าฝนก็เช่นกัน ส่วนหน้าหนาวดอกจะได้ 6 กก.ต่อ 1 ไร่ต่อ 3 วัน ส่วนต้นหรือใบหน้าร้อนจะได้ปริมาณ 4 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน หน้าฝนต้นหรือใบจะได้ 6 ตันต่อไร่ตัดทุก 2 เดือน หน้าหนาวจะได้ 8 ตันต่อไร่ ตัดทุก 2 เดือน ส่วนราคาใบและต้น หน้าหนาวจะอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. หน้าฝนจะได้ 27 บาทต่อกก. หน้าร้อน 25 บาทต่อกก. ราคาดอกหน้าหนาว 60 บาทต่อกก.หน้าฝนดอกราคา 40 บาทต่อกก.หน้าร้อน 30 บาทต่อกก. ข้อมูลเพิ่มเติม คุณบัญชา หนูเล็ก 9/5 ม.7 ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี   Rakkaset Nungruethail  รักษ์เกษตร แหล่งที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539816143&Ntype=8
[fbcomments url="https://parichfertilizer.com/en/knowledge/%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99/" width="375" count="off" num="3" title="Comments" countmsg="wonderful comments!"]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save